อนุทิน ตั้งรับ ดิจิทัลวอลเล็ต เตือนภัยระวัง มิจฉาชีพ

อนุทิน ตั้งรับ ดิจิทัลวอลเล็ต เตรียมพร้อมเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เตรียมการให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อป้องกันภัยแก่ประชาชนจาก มิจฉาชีพ ที่อาจฉวยโอกาสหลอกลวงประชาชนทั้งในการลงทะเบียนและการใช้แอปพลิเคชัน


วันนี้ 11 เม.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีแถลงความคืบหน้าโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต วานนี้ ยืนยันประชาชนลงทะเบียนได้ในไตรมาสสาม และผู้มีสิทธิจะได้รับเงิน 10,000 บาทผ่านซูเปอร์แอพนั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้สอบถามนาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงท่าทีการสนับสนุนโครงการในฐานะหนึ่งในคณะรัฐมนตรีว่ามีข้อกังวลอะไรหรือไม่

นายอนุทิน กล่าวว่า โครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต อยู่ในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาไว้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ในส่วนของตนที่กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้ รวมถึงต้องเตรียมการให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อป้องกันภัยแก่ประชาชนจาก มิจฉาชีพ ที่อาจฉวยโอกาสหลอกลวงประชาชนทั้งในการลงทะเบียนและการใช้แอปพลิเคชันด้วย

”สิ่งที่ทางกระทรวงมหาดไทยต้องเตรียมพร้อมคือการใช้เครือข่ายของกรมการปกครองในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการใช้สิทธิและการใช้งานซูเปอร์แอพที่จะเกิดขึ้น รวมถึงให้กรมพัฒนาชุมชนพิจารณาช่องทางในการส่งเสริมให้เกิดการค้าขายในชุมชนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้โอกาสนี้ในการสร้างรายได้อย่างเต็มที่“

เมื่อถามว่ามีความกังวลอะไรหรือไม่ นาย อนุทิน ตอบว่า ”กังวลเรื่อง มิจฉาชีพ ที่อาจมีการส่งลิ้งค์หลอกให้ประชาชนไปลงทะเบียน หรือหาทางล่อลวงต่างๆระหว่างการดำเนินโครงการหรือการใช้จ่ายเงินผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องใช้เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยสร้างความรู้ความเข้าใจในชุมชน และเตือนให้ประชาชนระวังภัยจาก มิจฉาชีพ ก่อนถึงวันที่ประกาศใช้จริง นี่คือสิ่งที่เราต้องคิดและเตรียมความพร้อมล่วงหน้า”

ก่อนหน้านี้รัฐบาลนำทีมโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำทีม แถลงแนวทางการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ

กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน อายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่าย

ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น ซึ่งรวมร้านสะดวกซื้อ อย่าง เซเว่น อีเลฟเว่นด้วย

ประเภทสินค้า

สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

คุณสมบัติร้านค้า

ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน

การจัดทำระบบ

จะสร้าง Super App ขึ้นมาใหม่ ไม่ใช้ระบบเป๋าตังเดิม โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop

แหล่งเงิน

จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

โดยนายเศรษฐา ระบุว่า รัฐบาลมีความยินดีที่จะประกาศให้ประชาชนทราบว่า นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่จะยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว

รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลายจนมาถึงวันนี้ ได้ทำนโยบายตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ส่งมอบนโยบายที่จะพลิกชีวิตประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามกรอบข้อกฎหมายทุกประการ และเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

ประชาชนและร้านค้าจะสามารถลงทะเบียนได้ในไตรมาสที่ 3 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปในทุกพื้นที่ ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น

นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี  เป็นการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล และเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการชำระเงินในระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล

ทั้งนี้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และบรรเทาภาระค่าครองชีพตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนที่ต้องการรับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร  เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองได้”

ในส่วนของความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะให้สิทธิประชาชนจำนวน 50 ล้านคน วงเงิน 500,000 ล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด ส่งเงินลงสู่ฐานราก จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณ 1.2-1.8% โดยรัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

อ้างอิงข้อมูลจาก กระทรวงมหาดไทย

เงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต