เปิด เงื่อนไข เงิน ดิจิทัลวอลเล็ต ล่าสุด

ดิจิทัลวอลเล็ต
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

เศรษฐาทำคลอด ดิจิทัลวอลเล็ต พร้อม เงื่อนไข ไปอำเภอแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการ ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนแล้ว ย้ำ เงื่อนไข ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นไปตามกรอบกฎหมาย และกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แจง 3 แหล่งที่มาเงิน 5แสนล้านบาท

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า รัฐบาลมีความยินดีที่จะประกาศให้ประชาชนทราบว่า นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่จะยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว

รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลายจนมาถึงวันนี้ ได้ทำนโยบายตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ส่งมอบนโยบายที่จะพลิกชีวิตประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามกรอบข้อกฎหมายทุกประการ และเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

ประชาชนและร้านค้าจะสามารถลงทะเบียนได้ในไตรมาสที่ 3 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปในทุกพื้นที่ ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น

นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี เป็นการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล และเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการชำระเงินในระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

“โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และบรรเทาภาระค่าครองชีพตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนที่ต้องการรับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองได้”

ในส่วนของความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต จะให้สิทธิประชาชนจำนวน 50 ล้านคน วงเงิน 500,000 ล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด ส่งเงินลงสู่ฐานราก จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณ 1.2-1.8% โดยรัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

ดิจิทัลวอลเล็ต เงื่อนไข
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แจงที่มาของแหล่งเงินทำโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงที่มาของแหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาทว่า กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณได้ไปพิจารณาแหล่งเงินทางเลือก โดยได้มีคำตอบให้คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้วว่า วงเงิน 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด
ทั้งนี้จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่

แหล่งที่มาของเงินโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต

1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ขยายกรอบวงเงินงบประมาณปี 2568 เรียบร้อยแล้ว

2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท จะใช้กลไกมาตรา 28 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มเกษตรกร 17 ล้านคน

3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

“ขอยืนยันว่า การดำเนินการแหล่งเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.งบประมาณ หรือพ.ร.บ.เงินตรา ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติให้ข้อกังวล โดย ณวันที่เริ่มโครงการช่วงปลายปี จะมีเงิน 500,000 ล้านบาท อยู่ทั้งก้อน ไม่ได้มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

ดิจิทัลวอลเล็ต เงื่อนไข
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แจงรายละเอียดโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้ให้ความเห็นชอบในหลายประเด็น โดยมองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพอยู่ที่ 2.7% และมีแนวโน้มเติบโตน้อยลงกว่าที่ผ่านมา

เผชิญความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ ทั้งปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำหลังจากโควิด-19 ปัญหาหนี้ครัวเรือน และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งบั่นทอนด้านกำลังซื้อของประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้า รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

มีดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย ของ ดิจิทัลวอลเล็ต ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

ดิจิทัลวอลเล็ต
น.ส.อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์ ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งคำถามในการแถลงข่าวดิจิทัลวอลเล็ต

เงื่อนไขการใช้จ่าย

ระหว่างประชาชนกับร้านค้า มี เงื่อนไข ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น

ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนด เงื่อนไข การใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า

การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน

ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย

แหล่งเงิน จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

ดิจิทัลวอลเล็ต
นายนครินทร์ ศรีเลิศ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ-นโยบาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สอบถามในการแถลงข่าวดิจิทัลวอลเล็ต

การป้องกันการทุจริตของโครงการฯ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และ เงื่อนไข ของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 1.2 – 1.8 % และคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567

อ้างอิง รัฐบาลไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “เศรษฐา”แจงยิบ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน