

- สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ เปิดเวทีระดมภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ นักวิชาการ
- ร่วมถก “Creative Economy Forum Thailand 2022”
- หันใช้ไฮเทคไฮทัชผนวกนวัตกรรมรับเทรนด์ BCG+SDGs
- แนะใช้ โลคอล คอนเทนท์ ท้องถิ่น จุดกระแสขายได้ ขายดี ในตลาดโลก
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ บริษัท เวรียนส์ แอนด์ พาร์ทเนอส์ จำกัด จัดงาน Creative Economy Forum Thailand 2022 ปลุกกระแสสร้างแรงบันดาลใจคนไทยให้มีส่วนร่วมคิด ร่วมพัฒนา “Soft Power” เพื่อส่งออกเป็นสินค้าที่น่าภาคภูมิใจสู่สายตาคนทั้งโลก ด้วยการนำเสนอผ่านเวทีเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยก้าวไปด้วยเทคโนโลยี ท่ามกลางโรคระบาดอุบัติใหม่” เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ประสบการณ์ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ก้าวหน้าอย่างเข้มแข็ง
เบื้องต้นได้ต่อยอดสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมให้ทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการ นำเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาเป็นเครื่องมือสำคัญผลักดันทำตลาดการขายซอฟท์ เพาเวอร์ แล้วใช้ส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยในเวทีนานาชาติ ดึงดูดการท่องเที่ยวและส่งเสริมการส่งออกเพิ่มรายได้เข้าประเทศในระยะยาว

ขณะนี้ CEA มุ่งมั่นผลักดันยุทธศาสตร์ “Soft Power” นำมาตรการเกี่ยวข้องร่วมมือกับองค์กรเอกชนหลายแห่ง หลายสาขา เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจ SMEs และผู้เล่นสำคัญรายใหญ่ นำทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของประเทศมาพัฒนาต่อยอดโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ทั้งทางด้านปัญญาประดิษฐ์เอไอ เทรนด์เมตาเวิร์ส ไปพร้อม ๆ กับ ส่งเสริมระบบนิเวศ รวมถึงเตรียมพร้อมผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีขีดความสามารถพัฒนาหรือตามเทคโนโลยีของโลกแล้วส่งออกคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกเป็นอันดับต้น ๆ ได้ต่อไป
“ดร.ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการ CEA กล่าวว่าประเทศไทยมีมรดกและทุนทางวัฒนธรรมหลากหลายและสามารถแข่งขันได้ ที่ผ่านมาได้นำทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่าน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เมื่อปี 2563 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.19 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.58% ของ GDP ประเทศไทย เกิดการจ้างงานสูงกว่า 9 แสนคน จึงขอตั้งเป้าผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟท์ เพาเวอร์ให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญพื้นฟูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดสากลจะต้องขายได้และขายดี

แต่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในไทย 3 เรื่อง คือ 1.ทำให้นิติบุคคลสร้างสรรค์ไทยผลประกอบการลดลง 79,096 ราย 2.จำนวนธุรกิจที่มีความสามารถทำกำไรก็ลดต่ำลงเฉลี่ย 17.1% 3.ธุรกิจที่ขาดทุนเพิ่มจำนวนสูงขึ้นถึง 14% กลุ่มที่มีกำไร ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม อาหารไทย ดิจิทัลคอนเทนต์ ส่วนกลุ่มเฝ้าระวัง ได้แก่ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ทัศนศิลป์ แพทย์แผนไทย
นับจากนี้เป็นต้นไป CEA วางกลยุทธ์จะเดินหน้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสร้างซอฟท์ เพาเวอร์ โดยเน้น 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.พัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) 2.เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์(Creative Business) 3.การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Place) 4.ความพร้อมปรับตัวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระยะยาว ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาทักษะดิจิทัล การนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ธุรกิจ
รวมทั้งจะเร่งผลักดันกระบวนการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสร้างระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมต่อกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก โดยจะสำรวจว่าไทยมีศักยภาพด้านใดมากที่สุด แล้วพยายามติดต่อกับผู้เล่นในตลาดโลกเพื่อส่งออก ซึ่งไทยมียุทธศาสตร์ชาติสร้างความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมจะสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างย่านสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการยกระดับอัตลักษณ์ไทย

ทางด้าน “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า ไทยมีต้นทุนวัฒนธรรมจำนวนมาก สามารถนำไปต่อยอดได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะThailand’s Soft Power นั้นมีฐานรากมาจาก DNA ความเป็นไทยหรือ Thainess ครอบคลุมทั้ง 5 มิติ คือ 1.คนไทยเป็นคนสนุกสนาน (Fun) 2.มีวัฒนธรรมที่เปี่ยมรสชาติ (Flavoring) 3.ชอบสร้างสีสันเติมเต็มกัน (Fulfilling) 4.มีความยืดหยุ่น (Flexible) และ5.เป็นมิตร (Friendly)
เมื่อได้รับการเสริมด้วยความหลากหลายเชิงชีวภาพและวัฒนธรรม ยิ่งสะท้อนความเป็นไทยอันโดดเด่น เป็น “Soft Power” สามารถสร้าง “คุณค่า” และ “มูลค่า” ในตัวเอง ถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญที่จะสร้างความมั่งคั่ง ผ่านการผสมผสาน Place x People x Product
ดร.สุวิทย์ มองว่า พลังซอฟท์ เพาเวอร์ ไทยแลนด์ ต้องมีส่วนผสมระหว่าง High Tech กับ High Touch โดยดึงพลังเยาวชนมาเป็นผู้นำการขับเคลื่อนซอฟท์ เพาเวอร์ มิติต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพราะไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว สามารถเป็น “ASEAN Creative Hub” ได้ ไม่เกิน 5-10 ปี จะเห็นการพลิกโฉมอย่างมีนัยยะสำคัญเกิดจาก Soft Power อย่างแน่นอน โดยต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้นั่นคือภาครัฐต้องกล้าคิด กล้าทำ มีนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน ทำแบบจริงจังต่อเนื่อง ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง การลงทุนและการสร้างงานขนาดใหญ่ เพื่อสร้างรากฐานให้เกิดความแข็งแกร่งในระยะยาว

“ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู” ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นภาพว่า โลกใหม่หลังโควิด-19 ประกอบด้วย 3 โลก คือ โลกเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โลกเศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) และโลกเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยนไป ความต้องการทักษะแรงงานก็เปลี่ยนไปด้วย งานที่มีความต้องการสูงและรายได้ดีก็ยิ่งต้องการทักษะหลากหลาย จะเห็นงานและทักษะในโลกใหม่มีความหลากหลายซับซ้อน นอกจากรู้ลึกและกว้างแล้ว ยังต้องเชื่อมโยง บูรณาการได้ด้วยความเก่งทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์ควบคู่กันไป
ส่วนอีก 3 องค์กร นำโดย “นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วย สุวรรณี สุวรรณแสงโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทตาชำนิ จำกัด (มหาชน) และธีรทัศน์ กรุงแก้ว ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์และบริหารการลงทุน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความเห็นในฐานะองค์กรที่พร้อมร่วมขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการขับเคลื่อนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ” ตอกย้ำถึงการใช้เวทีของ CEA เชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วยนวัตกรรม และความสามารถเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย
โดยเห็นพ้องกันที่จะผลักดัน “ทักษะ” เรื่องความคิดสร้างสรรค์มีความจำเป็นในการขับเคลื่อนธุรกิจ องค์กรทั้ง 3 องค์กร โดยใช้วัฒนธรรมองค์กรผนวกรวมกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ทำให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กร ให้คนกล้าคิด กล้าทำ เน้นใช้ผู้นำองค์กรเป็นต้นแบบต้องเปิดกว้าง ให้โอกาส และรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานทุกระดับ
เนื่องจากเมื่อ 3-5 ปีที่แล้วเทคโนโลยีสมัยใหม่ ๆ เริ่มเข้ามาแล้วมีแนวโน้มจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต การทำธุรกิจทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ ทั้งเรื่อง บล็อกเชน เอไอ เมตาเวิร์ส อีวี แต่ละองค์กรก็ต้องมองหาวิธีนำเทคโนโลยีมาใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรหรือแบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพก้าวทันโลกยุคใหม่
อีกทั้งยังก็มีกูรูแถวหน้าของเมืองไทยช่วยตอกย้ำเรื่องการใช้ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การยกระดับอัตลักษณ์พื้นถิ่นเป็นซอฟท์ เพาเวอร์” ที่ทรงพลัง ได้แก่ ดร. ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประเทศไทยลาว และกัมพูชา บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ทิฆัมพร ภูพันนา นักสร้างสรรค์ตัวแทนกลุ่มหมอลำโฮโลแกรม ดร. กรกต อารมย์ดี เจ้าของแบรนด์ KORAKOT งานหัตถกรรมดีไซน์ คุณลักษมณ์ เตชะวันชัย ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยี บริษัท มวยไทย ไอ.กล้า จำกัด และรองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้สร้างแบรนด์ Karb Studio และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกันให้ความรู้และมุมมองได้นักสร้างสรรค์ด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย ประยุกต์ความคิดสร้างสรรค์นำมาใช้ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคไปสู่ระดับชาติและระดับโลก
ทั้งนี้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มี “Local Content” เด่นชัดหลากหลายมิติ ทั้งทางด้าน ศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรมสถาปัตยกรรม อาหาร อุตสาหกรรมบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ กีฬาแบบไทย ๆ อย่างมวยไทย สิ่งเหล่านี้นับเป็น“ต้นทุนทางวัฒนธรรม” ของชาติที่ควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการส่งออกแบบแพร่หลายในต่างประเทศ เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญมากในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย สื่อภาพยนตร์ ซีรีส์ สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการท่องเที่ยว การบริโภคสินค้าและบริการ การลงทุน หรือการพัฒนาแรงงานท้องถิ่น
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen