ครม. เห็นชอบการเข้าร่วมข้อริเริ่ม SheTrades Outlook ของประเทศไทยพร้อมมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) พิจารณาเสนอรายชื่อบุคลากรเป็นที่ปรึกษาระดับประเทศ
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ธันวาคม 2567) ครม. เห็นชอบการเข้าร่วมข้อริเริ่ม SheTrades Outlook ของประเทศไทย และมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) พิจารณาเสนอรายชื่อบุคลากรเป็นที่ปรึกษาระดับประเทศ (National Consultant) สำหรับข้อริเริ่มSheTrades Outlook แก่ศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ[International Trade Center (ITC) เพื่อดำเนินการต่อไป ตามที่พณ. เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ITC เป็นหน่วยงานร่วมขององค์การการค้าโลก [World Trade Organization (WTO)] และองค์การสหประชาชาติ [United Nations (UN)) ได้เล็งเห็นว่า ผู้ประกอบการสตรียังไม่ได้รับโอกาสด้านการค้า จึงได้จัดทำโครงการสตรีและการค้า (ITC SheTrades Initiative) ในปี 2558 เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสตรีในการค้าขายระหว่างประเทศผ่านกิจกรรมและข้อริเริ่มต่าง ๆ โดยให้ความรู้ สร้างเครือข่าย และสนับสนุนด้านนโยบาย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ [Sustainable Development Goals (SDGS)] โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน
กำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการค้าของสตรี
ต่อมาในปี 2563 ITC ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหราชอาณาจักรและได้จัดทำข้อริเริ่ม SheTrades Outlook เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้กับผู้กำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการค้าของสตรีและเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงจัดกิจกรรมสร้างเสริมศักยภาพและการมีส่วนร่วมของสตรีในการค้าระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มดังกล่าวประมาณ 50 ประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิบไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ITC อยู่ระหว่างขยายจำนวนประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่ม SheTrades Outlook
การเข้าร่วมข้อริเริ่ม SheTrades Outlook มีสาระสำคัญเป็นการพัฒนาเครื่องมือนโยบายเชิงนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้จัดทำนโยบายให้สามารถประเมินติดตาม และพัฒนาระบบนิเวศในการทำงาน (ecosystem) ของการมีส่วนร่วมของสตรีในด้านการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการจัดทำนโยบายตามกลุ่มตัวชี้วัดด้านการค้าและความเท่าเทียมทางเพศ 6 ประเด็น ได้แก่ (1) นโยบายการค้า (2) กรอบกฎหมายและระเบียบ (3) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (4) การเข้าถึงทักษะ (5) การเข้าถึงด้านการเงินและ (6) การทำงานและสังคม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ โดย อก. และ สศช. มีความเห็นเพิ่มเติม เช่น ควรวางเป้าหมายในกลุ่มสตรีของเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกฯ แจ้งที่ประชุม ครม. พร้อมลงภาคใต้ ขอ ศปช. ส่วนหน้าสรุปแผนแก้ไขน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว