ครม.เห็นชอบหลักการ 5 มาตรการส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยว

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ 5 มาตรการส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวและการใช้จ่าย

ครม.เห็นชอบหลักการ 5 มาตรการส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

  • ยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ
  • ขณะที่สภาพัฒน์ติงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นรอบด้าน
  • โดยเฉพาะแนวโน้มความต้องการของนักท่องเที่ยว
  • ลักษณะสัญญาผูกพันของร้านค้าเดิม

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการ 5 มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย 1.มาตรการด้านภาษีและการเงินเพื่อสนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว 2. มาตรการปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีอื่นๆ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ปรับอัตราภาษีให้แข่งขันได้ เวลานักท่องเที่ยวมาช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมแล้วซื้อจากประเทศไทยได้ ไม่ต้องซื้อจากประเทศอื่น

3. พิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ หมายถึงการยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า และเน้นซื้อสินค้าไทย ทั้ง 3 มาตรการเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง

4.การผ่อนปรนเวลาเปิดปิดสถานบริการ ให้กระทรวงมหาดไทยไปศึกษาแล้วมานำเสนอรายละเอียด และ 5.การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการเปิดวีซ่าฟรีเพิ่มขึ้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาและระบุรายละเอียดของทั้ง 5 มาตรการว่าจะต้องทำอะไรบ้างโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามการดำเนินมาตรการข้างต้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษี ซึ่งจะต้องมีการจัดทำประมาณการการสูญเสียที่ชัดเจนต่อไป แต่จะสามารถเพิ่มรายได้จากการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งช่วยลดการใช้จ่ายซื้อสินค้าในต่างประเทศของคนไทย

ขณะเดียวกันสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ ได้มีความเห็นประกอบการพิจารณาของครม.ในส่วนของการยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้าว่า การที่มุ่งหวังให้เกิดการบริโภคและใช้สินค้าภายในประเทศ ควรศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นรอบด้าน โดยเฉพาะแนวโน้มความต้องการของนักท่องเที่ยว ลักษณะสัญญาผูกพันของร้านค้าเดิม เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายในอนาคต