“สุริยะ” โชว์ยอดคนเดินทางผ่านคมนาคมขนส่งรวมกว่า 5.6 ล้านคน

“สุริยะ” เผยภาพรวมคมนาคมช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 เผยสะสม 2 วัน ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะรวม 5.6 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 0.99% จากปีที่แล้ว ชี้ระบบรางยังมีผู้โดยสารสูงสุดกว่า 45%

ปลื้มบุคลากรทุกหน่วยงานปฏิบัติภารกิจเต็มที่ตลอด 24 ชม. อำนวยความสะดวกการเดินทางทุกโหมด “สะดวก-ปลอดภัย” พร้อมเน้นย้ำลดอุบัติเหตุ-รองรับการเดินทางให้เพียงพอ-ไม่มีตกค้าง

  • เพิ่มขึ้น 0.99% จากปีที่แล้ว
  • ชี้ระบบรางยังมีผู้โดยสารสูงสุดกว่า 45%
  • ปลื้มบุคลากรทุกหน่วยงานปฏิบัติภารกิจเต็มที่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ 2567 ประจำวันที่ 12 เมษายน 2567 (สะสม 2 วัน) พบว่า จากการปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทของบุคลากรหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมนั้น ส่งผลให้ภาพรวมการคมนาคมดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับระบบการขนส่งสาธารณะที่สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอในทุกโหมดการเดินทาง

ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง และรับ-ส่งพี่น้องประชาชนทุกคนให้ถึงที่หมายด้วยความสะดวก ปลอดภัย ในส่วนของถนนสายหลักมุ่งสู่ภูมิภาคต่าง ๆ แม้ว่ามีปริมาณรถหนาแน่น แต่จากการบริหารจัดการของกรมทางหลวง (ทล.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สภาพการจราจรยังเคลื่อนตัวได้ดี

ทั้งนี้ จากข้อมูลระบบการเดินทางและระบบ TRAMS ในส่วนของการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ สะสม 2 วัน สรุปข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2567 เวลา 08.00 น. พบว่า มีจำนวนรวม 5,633,744 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 0.99% เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ระบบการขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 45.42% ของการเดินทางทั้งหมด

ส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ ด้านถนน ราง น้ำ และอากาศ มีจำนวนรวม 457,012 คน-เที่ยว ระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่

1.ภาคกลาง : ทางอากาศ (ขาออก) 91,442 คน-เที่ยว 2.ภาคใต้ : ทางถนน 69,534 คน-เที่ยว 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ทางถนน 80,679 คน-เที่ยว 4.ภาคเหนือ : ทางถนน 49,728 คน-เที่ยว และ 5.ภาคตะวันออก : ทางถนน 40,671 คน-เที่ยว

ส่วนการจราจรเข้า-ออก กรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 10 เส้นทาง มีปริมาณ 2,215,127 คัน เพิ่มขึ้น 4.71% เมื่อเปรียบเทียบกับวันที่ 11-12 เมษายน 2566 ของปีก่อน การเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนมีปริมาณ 2,984,690 คัน ลดลง 4.62%

ส่วนการตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 221 แห่ง มีการตรวจรถ 28,761 คัน พบบกพร่อง 7 คัน

และสั่งเปลี่ยนรถ 7 คัน ตรวจผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 28,761 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด สำหรับรถไฟ มีการตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน 86 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด

และการตรวจความพร้อมท่าเรือ/แพ 161 แห่ง ตรวจเรือ 1,660 ลำ พบข้อบกพร่อง 1 ลำ และได้สั่งห้ามเดินเรือพร้อมทั้งเปรียบเทียบปรับ และตรวจผู้ปฏิบัติงาน 2,325 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด

ด้านอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม รวม 467 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 53 คน บาดเจ็บ 478 คน มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 271 ครั้ง คิดเป็น 58% ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ รถกระบะบรรทุก 4 ล้อ 250 ครั้ง บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง 329 ครั้ง คิดเป็น 71%

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ นครราชสีมา 4 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 22 ครั้ง โดยสรุปเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (วันที่ 11-12 เมษายน 2566) อุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 11% จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8% และจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 8%

ส่วนโครงข่ายทางรางเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต และโครงข่ายทางน้ำ และทางอากาศไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำชับสำนักงานขนส่งจังหวัด ดำเนินการจัดหารถโดยสารประจำทางและรถโดยสารไม่ประจำทางให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ

พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะชั่วคราว ตลอด 24 ชั่วโมง รับเรื่องร้องเรียนและป้องกันมิให้ผู้โดยสารถูกเอาเปรียบจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร จุดจอด จุดตรวจ Checking Point และ Rest Area รวม 221 จุดทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสถานีขนส่งผู้โดยสาร และจุดจอดทุกแห่ง ต้องตรวจความพร้อมของรถและความพร้อมของผู้ขับรถก่อนออกเดินทางตามแบบ Checklist

เช่น มีใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้องตามประเภทใบอนุญาตขับรถและไม่หมดอายุ มีความพร้อมด้านร่างกาย และระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจต้องเป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ชั่วโมงการขับรถไม่เกินกฎหมายกำหนด รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรงทั้งภายนอกและภายใน

รวมทั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่าง ๆ ต้องพร้อมใช้งานอยู่เสมอ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้ความรู้แก่ผู้โดยสารกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และขอให้ผู้โดยสารทุกที่นั่งคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทางเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยรถไฟที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์บรรยากาศเป็นไปอย่างอย่างคึกคัก โดยในช่วงเช้าของวันที่ 12 เมษายน 2567 ผู้โดยสารที่สำรองตั๋วไว้แล้วได้ทยอยเดินทางอย่างต่อเนื่อง และเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นในช่วงบ่าย

ส่วนที่สถานีกรุงเทพผู้โดยสารไม่หนาแน่นมาก การเดินทางส่วนใหญ่เป็นขบวนรถระยะใกล้ เช่น ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี บ้านภาชี ตะพานหิน สุพรรณบุรี หัวหิน เป็นต้น ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้บริการได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง

และช่วงเย็น-ช่วงค่ำ ได้เพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษอีก 4 ขบวน ในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งได้พ่วงตู้โดยสารในทุกเส้นทางจนเต็มหน่วยลากจูงเพื่อรองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการตลอดทั้งวันมากกว่า 100,000 คน

ขณะที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จัดรถโดยสารเตรียมการรองรับการเดินทางกว่า 4,000 เที่ยว และประสานผู้ประกอบการนำรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30)

วิ่งเสริมทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ เข้มงวดการตรวจเช็คสภาพความพร้อมของพนักงานขับรถและรถโดยสารก่อนออกเดินทาง ทุกสถานีขนส่งฯ จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือประชาชน

เช่น แนะนำจุดขึ้นรถ บอกทาง ประจำตามจุดต่าง ๆ และให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทาง ให้ไปขึ้นรถก่อนเวลารถออก 10 นาที เพื่อลดความหนาแน่นบริเวณชานชาลา โดยจัดที่พักคอยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้รองรับผู้ใช้

ในส่วนของการเตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล

ส่งผลให้มีผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวมีความต้องการเดินทาง ด้วยสายการบินเป็นจำนวนมาก จึงนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการท่าอากาศยานและการให้บริการด้วยความสะดวก รวดเร็ว บรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน

รวมถึงช่วยลดระยะเวลารอคอย ไม่ต้องเสียเวลาต่อคิว สำหรับการเดินทางเข้า-ออก ทดม. ผู้โดยสารสามารถเลือกใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานได้หลายรูปแบบ

เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง (RED Line SRTET) รถโดยสาร ขสมก. สาย A1, A2, A3 และ A4 รถรับจ้างสาธารณะ Grab Car และรถแท็กซี่สาธารณะเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางมาใช้บริการ

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การเดินทางทางน้ำในส่วนกลาง หรือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยกรมเจ้าท่า (จท.) ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังความปลอดภัยผ่านระบบกล้อง CCTV ตามท่าเรือต่างๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ

จัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรืออำนวยความสะดวก ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและเส้นทางการเดินเรือให้กับประชาชน

ขณะที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) บูรณาการร่วมกับผู้ให้บริการระบบราง ดำเนินการเพิ่มจำนวนเที่ยวรถขนส่งทางรางและขยายตารางเวลาเดินรถไฟฟ้า ให้สอดรับกับปริมาณความต้องการใช้บริการของประชาชน

อีกทั้งได้พิจารณาจัดรถไฟฟ้าเสริมในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น และเพิ่มตู้รถไฟไปกับขบวนรถปกติ

พร้อมทั้งจัดขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสารในวันที่ 12 เมษายน 2567 จำนวน 4 ขบวน ในเส้นทางสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ได้แก่ กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ กรุงเทพอภิวัฒน์-ศิลาอาสน์ กรุงเทพอภิวัฒน์-อุดรธานี และกรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี