กสิกรไทยฯ คาด “เงินบาท” สัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.00-33.50 บาท / ดอลลาร์ฯ พร้อมจับตา flow – ยอดส่งออก – สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก หลังวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯ ได้เริ่มขึ้นแล้ว
- จับตา flow
- ยอดส่งออก
- ราคาทอง
ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (23-27 ก.ย.) คาดว่าอยู่ที่ระดับ 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์ฯ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลฃการส่งออกเดือนส.ค. ของไทย สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสำหรับเดือนก.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนส.ค.
ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 (final) และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และดัชนี PMI (เบื้องต้น) สำหรับเดือนก.ย. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-13 ก.ย.) เงินบาทแข็งค่า หลังวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯ ได้เริ่มขึ้นแล้วในการประชุม FOMC วันที่ 17-18 ก.ย. ที่ผ่านมา แม้จะมีปัจจัยลบกดดันให้อ่อนค่าตามจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก แต่เงินบาทก็ยังคงเคลื่อนไหวเป็นกรอบ
โดยมีแรงหนุนให้ทยอยแข็งค่าขึ้นเป็นระยะๆ ในช่วงก่อนการประชุมเฟด
ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวได้เพียงช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ ตามการปรับโพสิชั่นหลังการประชุม FOMC 17-18 ก.ย. ซึ่งเฟดมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% มาที่กรอบ 4.75-5.00% โดยเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า และทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบกว่า 19 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.03 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์
ขณะที่แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงท่ามกลางมุมมองที่ประเมินว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม 17-18 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ Cycle การลดดอกเบี้ย และแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้ายังเป็นขาลง
นอกจากนี้ การแข็งค่ากลับมาของเงินบาท ยังสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 20 ก.ย.67 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.03 บาท/ดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 19 เดือนครั้งใหม่ เทียบกับระดับ 33.33 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ก.ย. 67)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย. 67 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องที่ 5,865 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,976 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 13,226 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 3,250 ล้านบาท)
- เงินบาทแข็งค่าเร็ว ไม่ถึง 3 เดือนพุ่ง 10%
ด้านนางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด กล่าวว่า ขณะนี้เงินบาทแข็งค่าเร็วมาก ในเวลาไม่ถึง 3 เดือน โดยตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3 ถึงปัจจุบันแข็งค่าแล้ว 10.8%
เป็นรองแค่ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียที่แข็งค่า 12% เมื่อเทียบคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ก็ต้องบอกว่าเงินบาทแข็งค่ามากและเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับผู้ส่งออก โดยเฉพาะที่ใช้ต้นทุนวัตถุดิบในประเทศสัดส่วนค่อนข้างมาก จะเสียประโยชน์ในด้านราคา
“ประเด็นสำคัญคือ เงินบาทแข็งค่าเร็วเกิน จากเมื่อเดือน เม.ย. ที่ YTD (จากต้นปี) ยังอ่อนค่าที่ระดับ 8% เป็นบ๊วยในกลุ่มประเทศคู่ค้าคู่แข่ง นอกจากนี้ยังผันผวนสูงมาก แนะนำผู้ส่งออกว่า
ตอนนี้ไม่ใช่จังหวะขายดอลลาร์ ถ้ามีโอกาสรอได้ แนะนำให้รอก่อน หรือทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน หรือเฮดจิ้ง เพื่อล็อกรายได้ จะได้ไม่ต้องมาลุ้นว่าเดี๋ยวค่าเงินจะแข็งไปอีก”
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท นางสาวรุ่งกล่าวว่า เชื่อว่าเมื่อเงินบาทแข็งค่าไปที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ จะมีโอกาสพักฐาน โดยมีจังหวะที่เด้งกลับไปอ่อนค่าบ้าง จากการคาดการณ์ว่าจะมีแรงเทขายทำกำไรออก แต่หลังจากนั้นก็น่าจะแข็งค่าต่อ
ทั้งนี้ มองสิ้นปีให้กรอบค่าเงินบาทที่ 32.80-34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เงินบาท แข็งค่า 33.96 บาท/ดอลลาร์ หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย