

- AWCดึงพันธมิตรแถวหน้า3กลุ่ม“ภาครัฐ–เอกชนไทย/อี้อูจีน–หอการค้าไทย/ต่างชาติ”ลุยเปิดโปรเจกต์“AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM”
- ดันไทย“ผู้นำศูนย์ค้าส่งอาหารแห่งภูมิภาค”ทั้งออฟ–ออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มPhenix Boxชู3กลยุทธ์
- ตั้งเป้า 5 ปีหน้าอุตฯอาหารไทยโต 30 % รองรับท่องเที่ยวปีละกว่า100 ล้านคน และกำลังซื้อทั่วอาเซียนอีกกว่า 700 ล้านคน
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด(มหาชน) “AWC” เปิดเผยว่า นำทีมพันธมิตรภาครัฐและเอกชนรวมพลังร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย โดยวางแผนใช้เงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เดินหน้าลงทุนเปิดโครงการ “AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM” ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาค เชื่อมเครือข่ายค้าส่ง (WHOLESALE ECO-SYSTEM) ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มค้าส่งเชื่อมโยงออนไลน์–ออฟไลน์ (ONLINE-OFFLINE INTEGRATION) เสริมโอกาสธุรกิจแบบไร้ขีดจำกัด เตรียมเปิดบริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้ซื้อจากอาเซียนและทั่วโลก กับผู้ขายซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการชั้นนำของไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนในเครือข่าย “อี้อู : Yiwu ” ให้สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นตลอดกระบวนการตั้งแต่ การสรรหาสินค้า การจัดส่ง และการชำระค่าสินค้า เพื่อตอบโจทย์อนาคตครบวงจรมุ่งสู่ศูนย์การค้าส่งอาหารที่ยั่งยืน

พร้อมทั้งได้ตั้งเป้าความสำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้า โครงการ AEC FOOD WHOLESALE จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมอาหารของไทยทำส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นถึง 30 % จากปัจจุบันทั้งอาเซียนมีมูลค่าตลาดรวม 25 ล้านล้านบาท ไทยมีส่วนแบ่งประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10 % เมื่อมีศูนย์ค้าส่งอาหารเกิดขึ้นจะขยับเพิ่มขึ้นได้ถึง 3 เท่า หรือสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ดีกว่าปัจจุบันทำได้รวม 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 6.9 % ต่อไปจะขยับขึ้นเป็น 900,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะเดียวกันยังสามารถเชื่อมโยงศูนย์ค้าส่งอาหารไทยเข้ากับ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ของไทยเติบโตสูงขึ้นทุกปี โดยมีต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมเข้ากับนักท่องเที่ยวคนไทยแล้วแต่ละปีมีเกินกว่า 100 ล้านคน ขณะที่ขนาดตลาดตามจำนวนประชากรในอาเซียนตอนนี้รวมกันเกือบ 700 ล้านคน โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศรอยต่อกับไทย 5 ประเทศ อย่าง มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ประชากรรวมกันก็มีเกือบ300 ล้านคน
ดังนั้นเมื่อ AWC และพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเปิดโครงการ “AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM” จะกลายเป็นประตูเชื่อมของอุตสาหกรรมการค้าส่งสำคัญในตลาด AEC : ASEAN Economic Community หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีสมาชิก 10 ประเทศได้ เนื่องจากไทยมีขีดความสามารถที่แข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์อันแข็งแกร่งพร้อมจะเชื่อมต่อการค้าส่งไปยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก และเป็นศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาคอย่างแท้จริง

นางวัลลภา กล่าวว่า รายละเอียดเงินลงทุน ศูนย์ค้าส่งอาหารแห่งภูมิภาค โครงการ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM ช่วงแรก 6,500 ล้านบาท ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอาคารมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเลือกทำเลเชิงยุทธศาสตร์ ใจกลางกรุงเทพฯ ในพื้นที่กว่า 10 ไร่ รวมพื้นที่อาคาร (Gross Floor Area) กว่า 67,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 พื้นที่อำนวยความสะดวกแบบครบวงจร ส่วนที่ 2 พื้นที่เช่าให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทั้งไทยและจีนชั้นนำกลุ่มคุณภาพ 600 ราย เพื่อให้ผู้ซื้อจากทั่ว AEC เข้าถึงสินค้าโดยตรง ในราคาต้นทางและผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือตรงกับความต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
รวมทั้งยังมีแผนพัฒนาโครงการช่วงต่อไปจะใช้เงินลงทุนอีกกว่า 4,000 ล้านบาท ขยายโครงการ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM แห่งที่สอง ในทำเลอื่นบริเวณประตูน้ำพระอินทร์ รังสิต ปทุมธานี
ส่วนผลิตภัณฑ์หลักระยะแรกที่จะนำมาให้บริการเป็นอาหารรวม 8 กลุ่ม เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็นและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องปรุงและวัตถุดิบ ข้าว เครื่องดื่ม กาแฟและชา ขนมขบเคี้ยวและขนมหวาน และของใช้ในครัวเรือน
รวมทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถพบปะเจรจาธุรกิจกันผ่านออฟไลน์แพลตฟอร์มได้ตลอด 365 วัน และออนไลน์แพลตฟอร์มได้ตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อมต่อผู้ซื้อผู้ขายข้ามทวีปได้ด้วยเช่นกัน

ล่าสุด AWC ได้รวมพลังพันธมิตรเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์ค้าส่งอาหารแห่งภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ภาครัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และอี้อู (Yiwu) ผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ AWC ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2566
กลุ่มที่ 2 หอการค้าจากประเทศต่างๆ เช่น สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย–จีน หอการค้าออสเตรเลีย–ไทย หอการค้าไทย–แคนาดา หอการค้าไทย–นิวซีแลนด์ หอการค้าสวิส–ไทย สมาคมหอการค้าไทย–สเปน
กลุ่มที่ 3 ภาคเอกชนผู้นำธุรกิจอาหารชั้นนำของไทย เช่น บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิปโก้ฟูดส์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นางวัลลภากล่าวว่า AWC จะใช้โครงการ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM เป็นประตูเชื่อมการค้าส่งทั่วทุกมุมโลก ด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 INTEGRATED BUSINESS PLATFORM : แพลตฟอร์มการค้าส่งแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงประสบการณ์การค้าส่งทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ (O2O Integrated) ร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมค้าส่งให้ตอบทุกโจทย์ของผู้ขายและผู้ซื้อ โดยรวมผู้ผลิตจากทั่วโลกมาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อบริการลูกค้าทั่วภูมิภาคเลือกสินค้าคุณภาพหลากหลายได้ครบในที่เดียว โดยมีบริการโครงสร้างพื้นฐานการค้าส่งครอบคลุมทั้ง คลังสินค้าพื้นที่ขนถ่ายสินค้า
ไฮไลต์คือการนำแพลตฟอร์ม Phenix Box เข้ามารองรับการค้าออนไลน์ซึ่งได้ออกแบบเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจค้าส่งได้ตรงและได้ง่ายขึ้น เช่น Bulk Purchase, Group Purchase, Multi-Level Procurement และการจัดส่งอย่างครอบคลุมทุกเส้นทาง รวมถึงมีเครื่องมือทางการตลาดและโปรแกรมลูกค้าสัมพันธ์ผ่านระบบ Loyalty Program กับพื้นที่ Food Lounge และ Taste Kitchen ใช้จัดแสดงหรือสาธิตการปรุงอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่นำมาวางขายในโครงการ

กลยุทธ์ที่ 2 FULL ASSORTMENT : ครบครันทุกความต้องการในที่เดียว ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ประกอบการทั้งคุณภาพ ราคา ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายส่งตรงจากผู้ผลิตจากในประเทศและแบรนด์ระดับโลก โดยมีไลน์สินค้าหลักจากพันธมิตรชั้นนำให้เลือกถึง 8 กลุ่ม มีศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการ (Solution Service Center: SSC) ช่วยให้คำปรึกษาด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้า บริการด้านภาษา การจัดแสดงและนำเสนอผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมการค้าส่งของไทย พร้อมสร้างเครือข่ายค้าส่งธุรกิจค้าส่งต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่ง
กลยุทธ์ที่ 3 NON-STOP OPPORTUNITY : เชื่อมเครือข่ายค้าส่ง (WHOLESALE ECO-SYSTEM) ตอบโจทย์อนาคตครบวงจรกับโอกาสทางธุรกิจหลากหลายแบบไร้ขีดจำกัด จากการรวมพลังของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ หอการค้าจากประเทศต่าง ๆ เอกชน และอี้อู (Yiwu) พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายโดยมีการวางกลยุทธ์การตลาดครบ
ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่าย จัดสัมมนา ให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเพื่อเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจเปิดเวทีให้ผู้ซื้อกับผู้ขายเจรจาธุรกิจกันได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง ลดต้นทุนเข้าถึงสินค้าและกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen