นายกฯ แพทองธาร กล่าวบนเวทีประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนเอเปค แชร์ผลงานโครงการรักษาทุกที่ เชิญชวนลงทุนด้านธุรกิจดูแลสุขภาพคนทุกวัย

นายกฯ แพทองธาร กล่าวบนเวทีประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนเอเปค
นายกฯ แพทองธาร กล่าวบนเวทีประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนเอเปค แชร์ผลงานโครงการรักษาทุกที่


ณ the Grand National Theater of Peru กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับเกียรติจากที่ประชุม ในการขึ้นกล่าวบนเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (the APEC CEO Summit) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ ขอบคุณที่ประเทศไทยได้รับเกียรติในครั้งนี้ ทั้งนี้เชื่อว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกๆท่าน เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ

ความสูงวัย สุขภาพ และนวัตกรรมส่งผลต่อโอกาสทางเศรษฐกิจ

โดยปัจุบันพบว่า ความสูงวัย สุขภาพ และนวัตกรรม นั้นเกี่ยวกันโดยตรงที่จะส่งผลกับโอกาสทางเศรษฐกิจในทุกด้านที่ทุกประเทศต้องเผชิญร่วมกัน ทั้งนี้ประเทศไทยเชื่อว่าหากประชาชนมีสุขภาพที่ดีก็จะเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ และจะเป็นความมั่งคั่งที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยภูมิใจที่สามารถบรรลุเป้าหมายในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม“โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค”(Universal Health Coverage (UHC)มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ทำให้ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ของคนไทยมีราคาไม่แพงแต่มากด้วยคุณภาพในการรักษาและเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมสุขภาพของคนไทยทุกคน 

“กว่า 22 ปี ของโครงการนี้ ปัจจุบันสามารถยืนยันได้ว่าคนไทยเกือบทั้งประเทศมีระบบประกันสุขภาพของรัฐ ที่ทำให้ครอบครัวและผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดีได้และรัฐบาลไทยในปัจจุบันเชื่อมั่นว่าระบบสาธารณสุขถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชนอีกด้วย และที่ผ่านมา ประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร (demographic shift) ที่ประชากรมากกว่า 20% มีอายุมากกว่า 60 ปี และไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูง (Super Aged Society) ภายในทศวรรษหน้า ซึ่งจะทำให้กำลังในการพัฒนาประเทศลดน้อยลง

รัฐบาลไทยจึงมุ่งมั่น ที่จะพัฒนาระบบสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าหรือ UHC เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้สอดรับกับโลกปัจจุบัน“

นายกรัฐมนตรีกล่าว อีกว่าในเดือนที่ผ่านมารัฐบาลได้ปรับปรุงนโยบายเมื่อ 22 ปีที่แล้วมาเป็นนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งหมดมีความพร้อม ที่จะดูแลรักษาประชาชนคนไทย โดยรัฐบาลได้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยในการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การนัดแพทย์ การส่งต่อ การวินิจฉัยโรค การสั่งยา การบริการสุขภาพ และเข้าถึงผู้คนทุกวัย โดยรัฐบาลยังกำหนดค่าใช้จ่ายไว้เพียงแค่ 1ดอลลาร์สหรัฐฯ  เหมือนเมื่อ 22 ปีที่แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้สึกที่ดี มีศักดิ์ศรี ที่เป็นผู้จ่ายค่าบริการ ไม่ใช่มาขอรับการรักษาฟรีจากรัฐ    

ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ของไทยทุกคนสำหรับการบริการและความทุ่มเท โดยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นโดย ประชาชนสามารถตรวจ

สุขภาพหรือปรึกษาแพทย์จากที่ใดๆในประเทศไทยได้  โดยปัจจุบันรัฐบาลได้เชื่อมโยง ข้อมูลสุขภาพ(Health Link) กับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้บริการดูแลสุขภาพอย่างไร้รอยต่อในทุกสถานพยาบาลของไทย 

“ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เรามีแอปพลิเคชันสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ (Blue Book Application)ที่ให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพกับผู้สูงอายุ และมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถติดตามสุขภาพและความเป็นอยู่อย่างจริงจัง มากขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสุขภาพที่ดีของประเทศไทย “

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า เมื่อ 21 ปีที่แล้วประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2003 ขณะนั้นในภูมิภาคเผชิญกับปัญหาโรคซาร์ส ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลก รัฐบาลไทยในขณะนั้นตั้งคณะทำงานด้านสุขภาพ เพื่อแก้ไข สถานการณ์ดังกล่าว และได้เปลี่ยนมาเป็น คณะทำงานด้านสุขภาพ ภายใต้กระบวนการทำงานของเอเปคในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันมีภารกิจครอบคลุมประเด็นต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการสร้างระบบสุขภาพที่มีความพร้อมอย่างรอบด้าน และเมื่อ2 ปีที่แล้ว ( 2022 )ไทยเป็นเจ้าภาพจัด APEC Health Week Policy Dialogue ที่กรุงเทพฯ และทำงานกับภาคเอกชนเพื่อเปิดตัวโครงการ APEC Smart Family ซึ่งเป็นการทำงานด้านนโยบาย ในรูปแบบการเพิ่มปริมาณประชากร เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวทางประชากรในเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค

เอเปคมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ผู้สูงอายุ

โดยเอเปคสนับสนุนคนในทุกช่วงวัยเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีมีความสุขและมีเป้าหมายเนื่องจากผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น เอเปคจึงมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในระบบเศรษฐกิจเช่น  จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับผู้สูงวัย 

ทั้งนี้เอเปค มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในบางประเทศที่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้เพียงลำพังได้  เอเปคจึงจำเป็นที่ต้องใช้แนวทางความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุข ที่สนับสนุนให้ประชากรสูงวัยมีชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้น และขอสนับสนุนให้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายในการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมทักษะใหม่และยกระดับทักษะอีกด้วย”

เอกชนมีบทบาทสำคัญในการให้บริการดูแลสุขภาพ

นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ความรู้ที่มีเกี่ยวกับสุขภาพ วิทยาศาสตร์อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้แนะให้ดูแลสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายได้ดีขึ้น สามารถลดโอกาสการเกิดโรคร้ายแรงได้ และจากแนวคิดนี้ จึงเกิด ธุรกิจ“เวลเนส ”(the Care and Wellness Economy) ซึ่งผสมผสานสุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรม

ซึ่งประเทศไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพที่แข็งแกร่ง สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง มีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง และต้นทุนที่ไม่สูงนัก ทำให้ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้นโยบาย กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย ให้มีมาตรการทางภาษีและมาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ บริการด้านสาธารณสุข และการวิจัยทางคลินิก ให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ไทยมุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปคและสภาธุรกิจเอเปคมากขึ้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคและพื้นที่อื่นๆ 

ทำเนียบรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกฯ ระบุ ไทยพร้อมเสริมสร้างความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างภูมิภาคเอเปค