กทม. แนะวิธีเตรียมพร้อม “สัตว์เลี้ยง” รับมือเสียงพลุปีใหม่ ป้องกันตกใจหนีหาย ทั้งหาพื้นที่ที่สัตว์เลี้ยงจะรู้สึกถึงความปลอดภัย จัดเตรียมของเล่นและขนมให้พร้อม
- อย่าลืมสวมปลอกคอที่ติดป้ายชื่อ
- และหมายเลขติดต่อกลับของเจ้าของที่สัตว์เลี้ยง
- หากเกิดการหนีหรือหาย
นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของ สัตว์เลี้ยง ก่อนมีการจุดพลุ ว่า เนื่องจากในช่วงเทศกาลต่าง ๆ จะมีการจุดพลุเฉลิมฉลอง และในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็เช่นกัน
ซึ่งในการจุดพลุนี้อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญและความกังวลใจให้กับใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงสัตว์ เสียงพลุมักสร้างความตื่นตกใจ ความเครียดและความหวาดกลัวให้กับสัตว์เลี้ยงบางตัว เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยสัตว์เลี้ยงของตน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งสามารถเตรียมความพร้อมของสัตว์เลี้ยงก่อนจุดพลุปีใหม่ได้ ดังนี้
1.หาพื้นที่ที่สัตว์เลี้ยงจะรู้สึกถึงความปลอดภัย ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในสถานที่ที่สัตว์เลี้ยงจะรู้สึกปลอดภัยที่สุด เช่น “บ้าน” เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สัตว์เลี้ยงคุ้นเคย ให้ความรู้สึกอบอุ่น ควรปิดหน้าต่างและประตูทุกบาน เพื่อป้องกันเสียงดังเข้ามาทำให้สัตว์เลี้ยงตื่นตกใจ
โดยจัดให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในห้องที่เงียบสงบ รู้สึกอบอุ่น และสะดวกสบาย สามารถเปิดโทรทัศน์หรือวิทยุที่มีเสียงคลอไปเรื่อย ๆ เพื่อกลบเสียงรบกวนจากด้านนอก หากสัตว์เลี้ยงส่งสัญญาณแสดงความหวาดกลัวออกมา เจ้าของควรอยู่เป็นเพื่อนกับสัตว์เลี้ยงหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงเพื่อลดอาการความหวาดกลัว
ที่สำคัญคือ เมื่อสัตว์เลี้ยงกำลังอยู่ในอาการหวาดกลัว เจ้าของห้ามลงโทษหรือดุด่าสัตว์เลี้ยงเสียงดังเด็ดขาด เพราะจะเป็นการเพิ่มความหวาดกลัวให้กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
2.จัดเตรียมของเล่นและขนมให้พร้อม สำหรับการจัดเตรียมของเล่นและขนมให้พร้อม เป็นอีกหนึ่งวิธีการช่วยให้สัตว์เลี้ยงผ่อนคลาย และช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากเสียงรบกวนได้ หรือใช้สเปรย์น้ำหอมที่สามารถทำให้สัตว์เลี้ยงผ่อนคลายและลดความวิตกกังวลได้
ซึ่งสามารถฉีดใส่เสื้อผ้า ที่นอน หรือสิ่งของที่สัตว์เลี้ยงชอบเล่นได้อย่างปลอดภัย
3.พูดคุยกับสัตวแพทย์ก่อน ทั้งนี้หากสังเกตพบว่าสัตว์เลี้ยงมีความผิดปกติ มีอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรง หรือมีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล
อาจต้องปรึกษากับสัตวแพทย์ว่ามีวิธีใดจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงไม่เครียดหรือหวาดกลัวกับเสียงที่ดังจนเกินไป ซึ่งทางสัตวแพทย์อาจแนะนำวิธีอื่น ๆ ที่ปลอดภัยและเหมาะกับสัตว์เลี้ยงของเราได้ดียิ่งขึ้น
4.ติดป้ายชื่อหรือฝังไมโครชิปเพื่อระบุความเป็นเจ้าของ กรณีที่มีการเตรียมความพร้อมทุกอย่างแล้ว แต่เกิดความผิดพลาด เช่น แม้จะปิดบ้านดีแล้ว แต่บางครั้งสัตว์เลี้ยงก็อาจสามารถหาทางออกมาและวิ่งหนีเนื่องจากตกใจได้
ดังนั้น อย่าลืมสวมปลอกคอที่ติดป้ายชื่อและหมายเลขติดต่อกลับของเจ้าของที่สัตว์เลี้ยง เพราะหากเกิดการหนีหรือหายไป ผู้ที่พบจะได้ติดต่อกลับได้อย่างถูกต้อง หรือสามารถฝังไมโครชิปเพื่อระบุตัวตนของสัตว์เลี้ยงได้ โดยสามารถพาสัตว์เลี้ยงมาฝังไมโครชิปได้ที่ คลินิกสัตวแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 8 แห่ง
ได้แก่ คลินิกสัตวแพทย์ กทม.1 สี่พระยา เขตบางรัก โทร. 0 2236 4055 ต่อ 213 คลินิกสัตวแพทย์ กทม.2 มีนบุรี เขตมีนบุรี โทร. 0 2914 5822 คลินิกสัตวแพทย์ กทม.3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา โทร. 0 2392 9278 คลินิกสัตวแพทย์ กทม.4 บางเขน เขตจตุจักร โทร. 0 2579 1342
5. คลินิกสัตวแพทย์ กทม.5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ โทร. 0 2472 5895 ต่อ 109 คลินิกสัตวแพทย์ กทม.6 ช่วง นุชเนตร เขตจอมทอง โทร. 0 2476 6493 ต่อ 1104 คลินิกสัตวแพทย์ กทม.7 บางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย โทร. 0 2411 2432 คลินิกกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง โทร. 0 2248 7417 หรือติดต่อ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข โทร. 0 2248 7417 และ 0 2328 7460.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เตรียมพร้อมก่อนเดินทางปีใหม่ 2568 พร้อมแนะเส้นทางเลี่ยงรถติด