“ก้าวไกล”จี้นายกฯตำหนิ “เศรษฐา”แก้ปัญหาหมูเถื่อน

“ก้าวไกล”จี้นายกฯตำหนิ “เศรษฐา”แก้ปัญหาหมูเถื่อน ในฐานะรมว.คลังกำกับดูแลกรมศุลกากร ปล่อยปละละเลยให้หมูเถื่อนทะลักเข้ามา

  • กระทบผู้เลี้ยงหมูรายย่อย 4 หมื่นครัวเรือน
  • เสนอ 4 แนวทางแก้ปัญหา
  • ถามหามีมาตรการเฝ้าระวังเพิ่มเติมหรือไม่

นายณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ติดตามเรื่องหมูเถื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับการร้องเรียนจากผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการว่า ราคาหมูตกต่ำ ทั้งที่ต้นทุนการผลิตหมูเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 20%  ปัญหาหมูเถื่อนมาจากปริมาณหมูในประเทศที่ลดลงจากปี 2565 จากเดิมปี 2564 มีจำนวนสุกร 12-13 ล้านตัว แต่ปี 2565 เหลือประมาณ 10 ล้านตัว หายไป 2 ล้านตัว ทำให้เกิดช่องว่างเนื่องจากหมูที่เลี้ยงในประเทศใช้บริโภคภายใน 97% จึงมีความพยายามนำเข้าหมูเพื่อมาทดแทนส่วนนี้

จากเดือนก.ค. 2564 หมูเริ่มมีราคาสูงขึ้น และขึ้นสูงสุดเดือนพฤศจิกายน 2565 ทำให้มีการนำเข้าหมูเถื่อนจากหลายประเทศ ทั้งบราซิล เยอรมันนี เนเธอร์แลนด์ และสเปน ประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตหมูเถื่อนถูกกว่าไทย โดยปี 2564 บราซิลมีต้นทุนการผลิตเนื้อหมูแช่แข็งในกิโลกรัมละ 38.20 บาท ส่วนของไทยมีต้นทุน 76.28 บาท จะเห็นว่ามีการจับกุมหมูเถื่อนในปี 2565 ปีก่อนนั้นจับกุมโค กระบือ

ปี2565 จับกุมหมูเถื่อน 4.9 ตัน แล้วเรื่องก็เงียบหายไป จนอีกครั้งมีการชี้เบาะแสนำจับเนื้อหมู 161 ตู้ ที่แหลมฉบัง จำนวน 5 ล้านกิโลกรัม ปัจจุบันจับกุมได้แค่นั้น ไม่มีการจุบกุมในกรณีอื่น การจับกุม 161 ตู้ดำเนินการ 7 เดือนไม่มีความคืบหน้า เพิ่งจะคืบหน้าสัปดาห์นี้

การขยายผลการจับกุมคิดว่า 2 ปี ย้อนหลังมี 2,300 ตู้ ตามเอกสาร จากปริมาณหมูหายไป 2 ล้านตัวในปี 2565 คาดว่าในปี 2565 ปีเดียว หมูเถื่อนทะลักเข้ามา 150 ล้านกิโลกรัม คำนวณจากน้ำหนักหมูตัวละ 75 กิโลกรัม และมี 2566 คาดว่า มีหมูเถื่อนอย่างน้อย 75 ล้านกิโลกรัม การจับกุมได้  5 ล้านกิโลกรัมถือว่าน้อยมาก ถามว่าจะหยุดหมูเถื่อนได้อย่างไร

“ผมค่อนข้างแปลกใจกับท่าทีของนายกรัฐมนตรีเนื่องจากว่า ที่นายกฯต่อว่าอธิบดีดีเอสไอเรื่องหมูเถื่อนนั้น ทางดีเอสไอรับผิดชอบเพียง 161 ตู้ที่จับกุมได้รับไว้เป็นคดีพิเศษ คนที่นายกฯควรต่อว่าในวันนั้นคือนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะรมว.คลัง ที่ทำหน้าที่กำกับกรมศุลกากร ที่ปล่อยปละละเลยให้หมูเถื่อนเข้ามาจนกระทบเกษตรกรรายย่อยและรายเล็กที่เลี้ยงหมูกว่า 40,000 ครอบครัว ที่ยังไม่สามารถกลับมาเลี้ยงหมูได้ เพราะปัญหาหมูเถื่อน” นายณรงเดชกล่าว

ปัญหาหมูเถื่อนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือหมูเถื่อนในประเทศ เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน และดีเอสไอที่ทำการจับกุม กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่กำลังจะเข้าประเทศค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ไม่สามารถปิดประตูไม่ให้หมูเถื่อนเข้าประเทศได้ แก้ไปไม่มีวันจบ ถามนายกฯว่าวันนี้กรมศุลกากรได้ปรับปรุงมาตรการจับหมูเถื่อนหรือยัง และได้ตรวจสอบ เฝ้าระวังหรือไม่ว่า มีตู้สินค้าที่คาดว่าจะมีหมูเถื่อนเข้ามา เพราะหมูเหล่านี้ไม่สามารถเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติได้ ต้องใส่ตู้แช่แข็งเข้ามา

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเรื่องหมูเถื่อน

1.ปิดประตูไม่ให้หมูเถื่อนเข้าประเทศ ยกเลิกกรีนไลน์สินค้าจากประเทศที่มีประวัติเคยถูกจับหมูเถื่อน และตรวจสอบบริษัทชิปปิ้งที่เกี่ยวข้อง หากมีการสำแดงเป็นปลาต้องให้กรมประมงร่วมตรวจสอบ

2.ตามหาหมูเถื่อนที่ค้างในประเทศ ให้กรมการค้าภายในออกประกาศให้ผู้ครอบครองหมู หรือส่วนประกอบตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไป ให้แจ้งการครอบครองและชี้แจงที่มา ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ในการออกตรวจสอบทุกจุดที่ต้องสงสัย

3.เร่งดำเนินคดีและทำลายสินค้าที่ถูกจับกุม

4.ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทุกราย