จีดีพีภาคเกษตร ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 0.5

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

จีดีพีภาคเกษตร ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 0.5  สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น คาดภาพรวมปี 66 ยังขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 – 2.5

  • สาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง
  • เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง
  • ภาวะฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.5  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและความต้องการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชสำคัญหลายชนิด

นอกจากนี้ ราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญทั้งปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ทำการเพาะปลูก  ชะลอหรือลดปริมาณการผลิต ส่งผลให้ภาพรวมของภาคเกษตรขยายตัวได้ไม่มากนัก

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคเกษตรในภาพรวมขยายตัวได้ คือ การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิต สนับสนุนการรวมกลุ่มทำการผลิต การแปรรูป และพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค การเฝ้าระวัง เตือนภัย และบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ รวมทั้งการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อการวางแผนและตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคในประเทศ ภาคบริการ และการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง ทั้งจากอิทธิพลของลมมรสุมที่ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรบางส่วน รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการลงทุนและกำลังซื้อของเกษตรกร ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการสู้รบในตะวันออกกลาง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้