ดีอีดันยกระดับเกษตรไทยสู่ Smart Agriculture

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม


ดีอีดันยกระดับเกษตรไทยสู่ Smart Agriculture เดินหน้าใช้เทคโนโลยีตามนโยบาย The Growth Engine of Thailand 

  • ใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการจัดการเพาะปลูก
  • ยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร

วันที่ 5 ธันวาคม 2566 นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีดีอี สั่งให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับเกษตรกรรมไทยในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศตามนโยบาย The Growth Engine of Thailand โดยได้สั่งการไปยังสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตร

ทั้งเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้ เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการจัดการเพาะปลูก ซึ่งการที่ชุมชนหรือเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำเกษตรกรรม ลดความผิดพลาด และเป็นการต่อยอดข้อมูล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ให้ออกมาเป็นแนวทาง หรือ วิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียของผลิตผลได้

โดยปัจจุบันได้อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูล เช่น ข้อมูลเพื่อการพยากรณ์อากาศ ข้อมูลผลผลิตพืชผล การเลือกใช้ปุ๋ย รวมถึงข้อมูลด้านเกษตรกรรมอื่น ๆ

สำหรับโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรผ่านการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบินและการซ่อมบำรุงโดรนแก่กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยประเมินว่า ภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ จำนวน 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 500 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร 4 ล้านไร่ ลดต้นทุนกว่า 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ดีป้า มุ่งส่งเสริมผลิตภัณฑ์ IoT Smart Farm ด้วย โดยผ่านการทำงานของเซนเซอร์หลากหลายตัว ได้แก่ เซนเซอร์อุณหภูมิ ความชื้นในดิน และในอากาศ วัดค่าปุ๋ย ความเป็นกรดและความเป็นด่างในน้ำหรือในดิน เป็นต้น โดยเซนเซอร์ดังกล่าวจะถูกสั่งการจากระบบควบคุมที่ตั้งค่าไว้ให้เหมาะสมกับพืช หรือ โรงเรือนนั้น ซึ่ง ดีป้า ได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ IoT Smart Farm ตั้งแต่การจัดการโรงเรือน การรดน้ำ การเก็บเกี่ยว รวมถึงการขนส่ง

พร้อมกันนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงาน ลดต้นทุนและประหยัดเวลา โดยผลการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน สามารถส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT และ Smart Farm ในภาคชุมชนและเกษตรกร ไปแล้วรวมมากกว่า 5,300 ราย