สินค้าไทยส้มหล่น!ยูเคลดภาษีนำเข้าหลังออกจากอียู



  • ส่งผลให้สามารถขยายตลาดส่งออกไปยูเคได้มากขึ้น
  • พาณิชย์ลุยทบทวนนโยบายการค้า 2 ฝ่ายกรุยทางทำเอฟทีเอ
  • ตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ปัญหาอุปสรรคการค้าระหว่างกัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.64 สหราชอาณาจักร (ยูเค) และสหภาพยุโรป (อียู) สามารถสรุปความตกลงทางการค้ากันได้ ก่อนยูเคจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู (เบร็กซิท) อย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ โดยหลังจากยูเคออกจากอียูโดยสมบูรณ์ ยูเคจะกำหนดนโยบายการค้าของตัวเองได้ และตั้งเป้าจะเป็นประเทศการค้า โดยมุ่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ เป็นสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่าการค้าระหว่างยูเคกับโลก และปัจจุบันยูเคทำเอฟทีเอกับหลายประเทศได้แล้ว เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น  

ส่วนประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอ ยูเคกำหนดอัตราภาษีศุลกากรใหม่ที่จะเริ่มใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค.64 โดยจะยกเลิกภาษีกับสินค้านำเข้ากว่า 48% ของรายการสินค้าทั้งหมดทันที ทำให้สินค้าไทยจำนวนมากได้รับประโยชน์  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมอยู่ระหว่างหารือกับยูเคเพื่อจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้าร่วมกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการจัดทำความร่วมมือในสาขา/ธุรกิจ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกันว่ามีศักยภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อไป รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าในระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นเวทีหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ตลอดจนการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคตด้วย 

นางอรมน กล่าวว่า การที่ยูเคออกจากอียู ทำให้ยูเคต้องออกจากสหภาพศุลกากรและระบบตลาดเดียวของอียู แลกกับการได้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในเรื่องสำคัญคืนมา เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าและคน สิทธิในการทำประมงในน่านน้ำ การไม่ตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลยุติธรรมของยุโรป เป็นต้น ถือเป็นข่าวดีของภาคธุรกิจ ที่จะคลายความกังวลและเพิ่มความแน่นอนของทิศทางและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างยูเคและอียู 

ทั้งนี้ ความตกลงทางการค้าฉบับนี้จะมีระดับการเปิดตลาดและการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันที่มากกว่าความตกลงที่อียูมีกับประเทศอื่น โดยจะครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายแข่งขัน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม แรงงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในส่วนของการค้าสินค้า ทั้งสอง 2 ฝ่าย ตกลงไม่เก็บภาษีศุลกากรหรือกำหนดโควตาสินค้าระหว่างกัน มีกฎระเบียบว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่สนับสนุนความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตระหว่างกันที่ใกล้ชิด  

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะเปิดตลาดเพิ่มเติม เช่น สาขาบริการโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ความมั่นคง และการขนส่ง ส่วนประเด็นที่เคยติดขัด เช่น ประมง ให้มีระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีครึ่ง โดยเรือประมงของอียูยังคงจับสัตว์น้ำได้ในน่านน้ำของยูเคได้ แต่ในปริมาณที่ลดลงจากเดิม ขณะที่การแข่งขันที่เป็นธรรม มีกลไกให้สามารถเรียกเก็บภาษีตอบโต้ได้ หากอีกฝ่ายให้การอุดหนุนการผลิตที่กระทบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่ง ทั้ง 2 ฝ่ายจะดำเนินกระบวนการภายในเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ได้ต่อเนื่องหลังจากเบร็กซิท