

- เผยเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงปลายปี
- ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า คาดว่าการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในช่วงปลายปีนี้จะไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนักเหมือนกับการระบาดของโควิดรอบแรก แม้ว่ารัฐบาลจะมีการล็อคดาวน์หรือไม่ก็ตาม เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังผลิตได้ปกติ มีการเดินทางข้ามจังหวัดอยู่ และประชาชนยังมีการรับมือโควิดได้ดีกว่ารอบแรกเพราะมีประสบการณ์แล้ว แต่อย่างไรก็ตามจะต้องดูว่ารัฐบาลจะรับมือกับสถานการณ์การระบาดรอบนี้ได้ดีแค่ไหนด้วย
“ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวดีกว่าปีนี้แน่นอนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออกไทย โดยกระทรวงการคลังจะปรับตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ในเดือนม.ค.2564 ”
ขณะที่รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพ.ย.2563 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย.2563 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี
โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ขยายตัว 2.5% จากเดือนก่อนหน้า และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.5% สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัว 8.7% จากเดือนก่อนหน้าหลัง หดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 7.2%
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 50.9 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี ประกอบด้วย โครงการ“คนละครึ่ง” โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งช่วยสนับสนุนการบริโภคให้ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น โดยในเดือนพ.ย. 2563 รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ขยายตัว 13.6 % ส่งผลให้กำลังซื้อในภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ยังคงชะลอตัว
“เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.7% จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1.สินค้าอาหาร เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน อาทิ โทรศัพท์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และ 3.สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง เป็นต้น โดยตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกตลาด ”
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนต.ค. 2563 อยู่ที่ 49.5% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพ.ย. 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 253.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
