

- ยังมีเงินคงคลังที่ยกยอดมาถึง 5.6 แสนล้านบาท
- หน้ากากอนามัยมีออเดอร์สั่งผลิตจำนวนมาก
- ททท.มั่นใจนักท่องเที่ยวจะกลับมาแน่
เมื่อเวลา 18.30 น วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด ได้จัดงานดินเนอร์ ทอล์ค “แนวหน้า forum#3” ภายใต้หัวข้อ”ก้าวข้ามวิกฤติ COVIC -19 กับแม่ทัพใหญ่กระทรวงเศรษฐกิจ
ต่อมาเวลา 19.40 น. มีการเสวนา “จับจังหวะ 4 เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยปี 64 หลังโควิด-19 คลี่คลาย” ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีนายสันติสุข มะโรงศรี เป็นพิธีกร
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปี 2564 เรามีงบประมาณ 3.28 ล้านล้านบาท และเราพร้อมที่จะลงทุนเพื่อดูแลเศรษฐกิจของประเทศ แต่เราต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดว่าสถานการณ์โควิด-19 ต่อจากนี้จะเกิดอะไร ถ้าควบคุมได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนการจัดเก็บรายได้ในช่วงนี้นั้น ฐานะการคลังเรา เรามีเงินคงคลังยกยอดมาจำนวน5.6แสนล้าน แม้รายได้ที่เราจะจัดเก็บจะไม่เท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และที่เคยประมาณการณ์ก่อนเกิดโควิด แต่เมื่อมารวมกับเงินคงคลัง คิดว่าจะบริหารจัดการได้อย่างไม่มีปัญหา

ตัวเลขที่บ่งชี้ชัด คือการบริโภค ที่ถือว่าค่อนข้างดี สำหรับโครงการคนละครึ่งต่อจากนี้ จะมีเม็ดเงินลงไปอีก 60,000 กว่าล้านบาท ถ้าสามารถควบคุมโควิดได้ เศรษฐกิจเราก็ไม่น่าจะเกิดความวิตก ขณะที่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งมาก เพราะเราอยู่ในวินัยการเงินการคลังมาโดยตลอด
“สิ่งที่จะรองรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 คือการที่ไทยยังมีงบประมาณที่สามารถรองรับได้ ประกอบกับเชื่อว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ขณะที่การส่งออกก็เริ่มดีขึ้น การบริโภคเริ่มที่จะใกล้เคียงกับปกติแล้ว จากมาตรการต่างๆของรัฐบาล ส่วนเรื่องของการจัดเก็บรายได้ในปี 2563 แม้จะไม่ได้เท่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ฐานะการคลังก็ยังดีอยู่”

ด้านนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิดในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบก่อน คือ กลุ่มที่ไม่ใช่สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน อาทิ รถยนต์ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น แต่ในวิกฤติดังกล่าวก็มีโอกาสเช่นกัน คือ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยมีความต้องการถุงมือยาง หน้ากากอนามัย เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยมีออเดอร์ล่วงหน้าไปถึง2ปีข้างหน้า เนื่องจากมีทั้งความต้องการในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ต้องการให้ใช้ของไทย ซึ่งจะเป็นส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดีจากข้อมูล สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่0.45% ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
“เมื่อเกิดผลกระทบจากโควิด เราต้องต้องกลับมาเน้นอุตสาหกรรมภายในประเทศแบบพึ่งพาตัวเอง อะไรที่ทำได้ ก็ขอให้ใช้ของไทย ใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้ไม่ใช่เพียงแต่จะพึ่งพาความสามารถทางการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ความร่วมมือเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นในแต่ละด้านก็สำคัญ ประกอบกับนำนโยบายมาตอบสนองเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นด้วย”

ส่วนนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าด้านสื่อการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา ซึ่งการกลับมาครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะไม่เหมือนก่อนๆ อาจจะไม่เห็นภาพรถทัวร์มาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดมีผลต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น จะเป็นการเดินทางมากับคนที่ไว้ใจ ขณะเดียวกันในช่วงที่เรากำลังรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเดินทางด้วยรถส่วนตัว
ขณะเดียวกันจะเห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะให้ความใส่ใจในเรื่องของสุขอนามัย เช่น จะมองเรื่องความสะอาด มองในด้านพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาามในช่วงเวลาที่ผ่านมา ททท. ได้ออกตราสัญลักษณ์เพื่อสร้างมั่นใจคือ SHA ซึ่งเป็นการสร้างจิตวิทยาเพื่อให้คนเข้าไปใช้บริการ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณะและทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ททท.ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเมื่อไร อาจไม่ใช่ไตรมาสแรกของปีหน้า
“การท่องเที่ยวในช่วงโควิดตัวเลขรายได้จะมาอยู่ที่คนไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขถือว่าดีมาก ทำให้คนกล้าออกมาท่องเที่ยว จนบางครั้งการ์ดอาจตกไปเล็กน้อย แต่จากกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาคร การท่องเที่ยวก็เริ่มชะงักลงไป เพื่อรอดูสถานการณ์ว่าจะควบคุมอยู่หรือไม่ ก็ได้หวังว่ารัฐบาลจะควบคุม ตามที่ออกมาส่งสัญญาณว่าจะควบคุมให้ได้ภายใน7วัน ถือเป็นการชี้ชะตาเศรษฐกิจในปี 64 เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา”

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการ์ณโควิด 19 ที่เกิดขึ้นว่า การระบาดครั้งล่าสุดไม่น่าจะเลวร้ายกว่าครั้งแรก และที่สำคัญประเทศไทยตอนนี้มีประสบการณ์ด้านการรับมือเป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการบริการจัดการทั้งด้านการค้าในและนอกประเทศ สอดคล้องกับนโยบายพาณิชย์ทั้งของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ ที่มอบหมายให้พาณิชย์ทั้ง 76 จังหวัด เป็นเซลล์แมนประจำจังหวัด ผ่านการจับคู่ซื้อขายระหว่างจังหวัด ซึ่งมีการทำมาแล้ว 2 ครั้งสร้างรายได้รวมกว่า 1,000 ล้านบาท