

- ก้าวข้ามโควิด-19 ด้วยการ “เยียวยา-บรรเทา -ฟื้นฟู”
- ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยืนได้ทุกวิกฤตที่เข้ามา
- เงินบาทแข็ง เกิดจากเงินต่างชาติไหลเข้าไทย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถา เรื่อง “พาเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19” ในงาน”แนวหน้า forum # 3″ ว่า ในปี 2564 ภาครัฐมีแผนในการปฏิบัติการเชิงรุก ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากพลัง 3 ผสานคือ การคลัง การเงินและตลาดทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะถ้าขาด 3 พลังนี้ ก็จะไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่าง 100%
ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวจากจากภายนอกและภายใน จะปรับอย่างไรให้สามารถยืนอยู่ได้ทุกวิกฤต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต้องมุ่งสู่กรีน อีโคโนมี นอกจากนี้ในอนาคตรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครจะต้องเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ รถไฟระหว่างเมืองเป็นที่มาของรถไฟทางคู่จะต้องเกิดขึ้น
“กระทรวงการคลังต้องหาเงิน เพราะรัฐบาลมีรายจ่ายเยอะ หน้าที่ของกระทรวงการคลังต้องหารายได้ แต่ข้อจำกัด คือ เรื่องการจัดเก็บรายได้ ธุรกิจได้รับผลกระทบ ปฏิรูปกี่จัดเก็บรายได้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อให้การเงินมีเสถียรภาพ และเสถียรภาพค่าเงินให้เอื้อต่อการส่งออก ส่วนหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะนั้น จะต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้จีดีพีขยายตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลง อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยยังมีหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพี ในขณะที่ประเทศอื่นเกิน 100% ไปแล้ว”
อย่างไรก็ตามในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลดำเนินการมาเป็นระยะ แบ่งเป็น 1. การเยียวยา ผู้ที่ถูกออกงานหรือถูกลดชั่วโมง และค่าจ้างแรงงานลดลง รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้เพราะปิดเมือง ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหา 1.ปิดประเทศก่อน ซึ่งต้นทุนที่ต้องแลก คือ เมื่อมีความปลอดภัยก็ต้องแลกกับต้นทุน เศรษฐกิจที่จะซบเซาลง ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างสมดุล
2.การบรรเทา กระทรวงการคลังมีพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการแพทย์ สาธารณสุข และการฟื้นฟู
และ3.ฟื้นฟู โดยต้องมองเรื่องดีมานด์ ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ครึ่งหนึ่งอยู่ที่การบริโภค และ 52% มาจากการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค เช่น คนละครึ่ง โดยรัฐบาลออกให้ 50% อีก 50% ประชาชน ออก วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกับโครงการ ชิม ช้อป ใช้ ก่อนหน้านี้ที่เน้นซื้อของห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ซึ่งรายได้ลงไปไม่ถึงหาบเร่ ร้านขายของชำ และการเติมเงินใส่บัตรสวัสดิการ จนถึงเดือนมี.ค.2564
“เราจะก้าวข้ามโควิด-19 ด้วยการ “เยียวยา บรรเทา ฟื้นฟู” และคาดว่าในปี 26564 ประเทศไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว เท่าๆ กับปี 2540 โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีอัตราการติดลบอยู่ที่ – 6.4% คาดว่าทั้งปี – 6% ซึ่งดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ส่วนการติดเชื้อใหม่ ในพื้นที่จังหวัด สมุทรสาคร เราต้องเฝ้าระวัง และรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจต้องมีความเข้มงวด แต่อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณแรงงานต่างด้าวเช่นกันที่ช่วยทำให้จีดีพีเติบโตเพราะเขาใช้จ่ายในประเทศของเรา”
อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีนี้แนวโน้มค่าเงินบาทเราแข็ง มีหลายสาเหตุ ได้แก่ จากเงินดุลเกินสะพัด ทำให้เงินไหลเข้ามา ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นต้น
ส่วนของภาคการท่องเที่ยว โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเทศไทยมีรายได้มาจากนักท่องเที่ยวเข้ามา 12% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งการแพร่ระบาดได้กระทบกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และอีก 6% ของจีดีพี คือการที่คนไทยเที่ยวกันเอง ปัจจุบันทำได้แล้ว 3% ส่วนที่เหลืออีก 3% ต้องทำให้โรงแรมเปิดให้ได้มากที่สุด สำหรับในปีหน้ากระทรวงการคลังตั้งเป้าเป็นปีแห่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการกระตุ้นต่างๆของภาครัฐ รวมถึงการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คาดหวังว่าจะมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3% ของจีดีพี