

- ให้วงเงิน 10, 000-20,000 บาท
- สอดคล้องกับพฤติกรรมพ่อค้า-แม่ค้า
- ที่ต้องการจ่ายดอกเบี้ยรายวัน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการออมสิน กล่าวว่า ช่วงต้นปีหน้าธนาคารออมสินจะลุยปล่อยสินเชื่อผ่านโมบาย แบงก์กิ้ง (Mobile banking) เพื่อสู้กับหนี้นอกระบบและสถาบันการเงินรายย่อย (Micro finance) ภายใต้แพลตฟอร์ม MYMO ซึ่งปัจจุบันมีผู้สมัครใช้แอปพลิเคชันนี้อยู่ประมาณ 8 ล้านราย
“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แอปฯ MYMO ทำได้เพียงตรวจสอบธุรกรรมการเงินเข้าออกเท่านั้น แต่ยังไม่มีธุรกรรมการให้กู้เงิน อย่างไรก็ตามขณะนี้ธนาคารกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบซึ่งคาดว่าไม่เกิน 6 เดือนนับจากนี้ จะสามารถนำให้บริการในส่วนของการกู้เงินได้”
สำหรับการให้กู้ผ่านแอป MYMO นี้อาจเป็นครั้งแรกในระบบธนาคารที่จะมีการให้กู้ผ่าน โมบาย แบงก์กิ้ง โดยที่ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องไปที่สาขาอีกต่อไป เพราะจะมีการยืนยันตัวตน(KYC) สิ้นสุดบนมือถือเลย และธนาคารจะเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงการซื้อข้อมูลจากธนาคารอื่น เพื่อประกอบในการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ เมื่อธนาคารอนุมัติวงเงินกู้แล้ว การลงนามในสัญญาจะเป็นลักษณะสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract)
ส่วนลักษณะเงินกู้ผ่าน MYMO จะเป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีของลูกค้ารายย่อยและพ่อค้าแม่ค้าในตลาด โดย MYMO จะให้วงเงินสินเชื่อ 10, 000-20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยสามารถคิดเป็นรายวันได้ เช่น กู้วันนี้ คืนในพรุ่งนี้ก็คิดดอกเบี้ยเป็นรายวันเลย เป็นต้น และธนาคารจะจ้างพนักงานที่เกษียณแล้ว มาเป็นคนเดินเก็บเงินในตลาดสด โดยคิดค่าทำธุรกรรมครั้งละ 3 บาทเท่านั้น ซึ่งรูปแบบเช่นนี้จะสอดคล้องกับพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายวัน ขณะที่เมื่อระบบนี้เสถียรแล้ว อาจเพิ่มวงเงินกู้เป็น 50, 000 บาท/ราย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ผ่าน MYMO จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ คือ ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย ระดับจังหวัดที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (นาโน ไฟแนนซ์) ที่คิดอัตราดอกเบี้ย 33 % และต่ำกว่าอัตราเงินกู้ดอกเบี้ยนอกระบบ ซึ่งอาจใกล้เคียงกับดอกเบี้ยธนาคารประชาชนของออมสินที่อยู่ในระดับ 12 %
นอกจากนี้การพัฒนาการให้บริการเงินกู้ผ่านโมบาย แบงก์กิ้ง ธนาคารจะทยอยพัฒนาในแต่ละส่วไป รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะสามารถทำบนแอป MYMO ด้วย ซึ่งจะทำให้การทำธุรกิจเงินกู้จะไม่ต้องเดินไปที่สาขาเลย ซึ่งผมเชื่อว่าทุกธนาคารในประเทศ จะเดินไปในทิศทางนี้
“ในปีหน้าผมจะเปลี่ยธํนาคารออมสินให้เป็นโซเชียล แบงก์เต็มตัว ซึ่งจะเดินหน้าไปพร้อมกับการพัฒนาเป็นดิจิทัล แบงก์กิ้งด้วย เพราะการทำให้โซเชียล แบงก์ ให้เข้าถึงคนได้เป็นแสนหรือเป็นล้านคน สาขาไม่สามารถรองรับได้แน่นอน ดังนั้นจะต้องพัฒนาดิจิทัลตามไปด้วย” นายวิทัย กล่าว