สบน. ระบุ ปีงบประมาณ 2564 มีแผนบริหารจัดการหนี้ 2.3 ล้านล้านบาทชัดเจน

ค่าเงิน หุ้นกู้


  • เชื่อว่าตลาดสามารถรับได้
  • หนี้สาธารณะสูงไม่ได้บริหารผิดพลาด

นางแพตรีเซีย มงคลวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า แม้ว่าปีนี้ตัวเลขการบริหารจัดการหนี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากรัฐบาลได้ออก พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)​เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และในปีงบประมาณ 2564 ยังเหลือวงเงินกู้ดังกล่าวอีก 600,000 ล้านบาท ก็ตาม แต่สบน.ได้หารือกับตลาดหลักทรัพย์ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้หนี้กระทบต่อตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชน

“ในปีงบประมาณ 2564 แม้ความต้องการเงินทุนของภาครัฐจะมีสูง เนื่องจากต้องกู้เงินเพื่อเยียวยาโควิด-19 บวกกับการจัดทำงบประมาณขาดดุลในปีงบประมาณ 2564 อีก 523,000 ล้านบาท  แต่ตลาดยังสามารถรับได้ แม้มีบางช่วงที่อาจสะดุดบ้าง แต่สบน.ก็ยังสามารถประคองตลาดพันธบัตรได้”

สำหรับแผนการบริหารจัดการหนี้ ปี 2564 จำนวน 2.3 ล้านล้านบาทนั้น สบน.มีการระดมเงินผ่านหลายเครื่องมือ อาทิ เครื่องมือที่เป็นพันธบัตรรัฐบาล วงเงินราว 800,000 ล้านบาท การออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 100, 000 ล้านบาท และการออก ตั๋วเงินคลัง (Treasury bill) เป็นต้น

“พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด-19 นั้น ปัจจุบันเหลือวงเงินอยู่ราว 600,000 ล้านบาท  ซึ่งตามกลยุทธ์แล้ว ต้องการให้เงินค่อยๆ ไหลออกไป ตามความต้องการ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้จากข้อมูลหนี้สาธารณะในเว็บไซต์สบน. ล่าสุด ณ เดือนส.ค.นี้อยู่ที่ 7.667 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.90%  ซึ่งถือเป็นระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)​ ในระดับที่สูงที่สุด หลังประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยในปี 2541 ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 47.84% 

ส่วนระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้เป็นผลมาจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายแต่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงิน สูงถึง 1 ล้านล้านบาทมีเยียวยาเศรษฐกิจ