

- เสริมสภาพคล่อง-เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ
- มั่นใจเงินกู้ 1 ล้านล้านใช้พอหากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวเร็ว
- เตรียมออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อเปิดประเทศ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยหลังตักบาตรเพื่อเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการเดินทางเข้ากระทรวงวันแรก ว่า ขณะนี้มาตรการทางเศรษฐกิจ มีศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 หรือ ศบศ.ดูแลอยู่แล้ว ขณะที่ในส่วนของกระทรวงการคลังจะเดินหน้าเรื่องเร่งด่วน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากเศรษฐกิจของภาคประชาชนและเอกชน มีผลต่อของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ประมาณ 70%
2.ฟื้นฟูกำลังซื้อในประเทศ เนื่องจากอัตราการบริโภคในประเทศต่ำแม้รัฐบาลจะคลายล็อคดาวน์แล้ว และการบริโภคในประเทศ ยังมีผลต่อจีดีพีประมาณ 50% ซึ่งเรื่องนี้ศบศ.ได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือ ทั้งกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชน และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับกระทบโควิด-19 หรือ เราไม่ทิ้งกัน แจกเงิน 5,000 บาท 3 เดือน เป็นต้น
3.การดูแลธุรกิจท่องเที่ยว รัฐบาลจะต้องดูแลทั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันได้หารือนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานแล้ว ในเรื่องการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ
และ4.การเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐ การเบิกจ่ายเม็ดเงินต่างๆ ตามมาตรการของรัฐ และการเร่งใช้งบประมาณที่ยังค้างท่ออยู่ เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจ รวมทั้งการดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐให้เพียงพอเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดประชาชนมั่นใจ
“ส่วนเรื่องการทำงานจะมีปัญหาหรือไม่นั้น นายอาคมตอบว่า ยึดงานเป็นหลัก ไม่ห่วงการเมืองแทรกแซง”
สำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือสายการบินนั้น ศบศ.ได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดูแลอยู่ โดยให้แยกหนี้ของสายการบินว่าเกิดขึ้นจากผลกระทบเพราะผลกระกอบการไม่ดี หรือเกิดจากโควิด-19 ให้ชัดเจน รวมถึงการแก้ไขการเบิกจ่ายตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินกู้ในส่วนของงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ที่ล่าช้าให้เร็วขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนัก และในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี ดังนั้นเงินกู้ของรัฐบาล 1 ล้านล้านบาท จะเพียงพอฟื้นฟูหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ถ้ากำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยวและส่งออกเริ่มฟื้นตัว ภาระเงินกู้ก็จะน้อยลง
“ในปี 2564 คาดการณ์ว่า โควิด-19 ยังมีกระทบต่อเนื่อง แต่ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยกระทรวงการคลังเตรียมออกมาตรการระยะยาวร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อเปิดประเทศ หรือ รีโอเพนนิ่ง รองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา การจัดประชุมสัมมนา เป็นต้น”
“ส่วนเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่านั้นถือเป็นเรื่องโลกแตกที่ต้องเจอ และขณะนี้เรื่องนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด”