

- เหตุเป็นสินค้าจำเป็น-คนอเมริกันเชื่อมั่นคุณภาพ มาตรฐาน
- มาแรงทั้งอาหารออร์แกนิก อาหารพร้อมปรุง-ทาน อาหารสุขภาพ
- แนะผู้ส่งออกติดตรา ”Made in Thailand” สร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่ง
นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ และแนวโน้ม ในระหว่างการอบรมผ่านหลักสูตร “เปิดโลกการค้ากับทูตพาณิชย์ Export Clinic” จัดโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (เอ็นอีเอ) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค.63 เป็นต้นมา นิวยอร์ก เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างมาก ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯได้รับผลกระทบตามไปด้วย
แต่ยังคงมีโอกาสสำหรับสินค้าและธุรกิจประเภทอาหาร เพราะเป็นสินค้าสำคัญสำหรับการดำรงชีพ โดยกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ผลิตสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารพร้อมทานหรืออาหารพร้อมปรุง ที่รับประทานได้ง่ายในช่วงกักตัวอยู่บ้าน โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ อาหารออร์แกนิก และอาหารเพื่อสุขภาพ ที่กำลังเป็นเทรนด์ของตลาดสหรัฐฯในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯกว่า 5,000 ร้าน ยัดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ธุรกิจอาหารไทยยังคงเติบโตได้ และคาดว่า กระแสความนิยมจะดีขึ้นเรื่อยๆ

“ทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำอยู่แต่ละรัฐของสหรัฐฯได้เร่งเครื่องในการช่วยผลักดันและประชาสัมพันธ์สินค้าไทย เหมือนเป็นนักขายด่านแรกให้กับนักธุรกิจชาวสหรัฐฯ ประกอบกับ ความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพของสินค้าไทย ที่ผู้บริโภคยังคงชื่นชอบและมั่นใจเป็นทุนเดิม นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ และมีกิจกรรมส่งเสริมการขายอาหารไทย ผ่านโซเชียลมีเดียด้วยการเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดเฉพาะ จึงทำให้สินค้ากลุ่มอาหาร และร้านอาหาร ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคสหรัฐฯ”
อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยในทุกสินค้าคือ ควรใช้คำว่า Made In Thailand หรือผลิตในประเทศไทย ติดบนบรรจุภัณฑ์ เพราะเป็นจุดแข็งที่สามารถนำไปใช้แข่งขันกับประเทศคู่แข่ง ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันได้ และยังเป็นแต้มต่อที่ดีด้านคุณภาพ มาตรฐานของสินค้า นอกจากนี้ ยังควรผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ อาหาร และเกษตร สินค้าเพื่อสุขภาพ ขณะเดียวกัน ต้องพัฒนาตนเองในด้านดิจิทัล เช่น ประชาสัมพันธ์ โฆษณา ติดตามสถานการณ์จากประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง

“การแข่งขันขายสินค้าราคาถูกกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล เพราะผู้บริโภคสหรัฐฯ ยอมจ่ายแพงเพื่อให้ได้ของดี มีคุณภาพ แต่สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเพิ่มเติมคือ สภาพทางวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวอเมริกาที่จะเป็นตัวแปรให้ผู้ประกอบการมีแนวทางพัฒนาสินค้าให้ได้มากกว่าคู่แข่ง เพราะสหรัฐฯเป็นดินแดนที่มีความหลากหลาย หากผู้ประกอบการไทยตีโจทย์แตก ก็หมายความว่าการจะรักษาหรือเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องยาก”