รถไฟฟ้าล้อยางไร้คนขับขบวนแรกของไทยมาแล้ว ถึงไทย 10 มิ.ย.นี้



  • เตรียมพร้อมขึ้นโรงจอดโครงการ รถไฟฟ้าสายสีทอง” สถานีกรุงธนบุรี 
  • พร้อมให้บริการชาวกรุง เดือนต..นี้

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคทีวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทองช่วง สถานีกรุงธนบุรีสถานีสำนักงานเขตคลองสาน (รถไฟฟ้าสายสีทองว่า  หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กำหนดการจัดส่งขบวนรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองต้องเลื่อนจากเดือนเมษายน 2563ที่กำหนดไว้เดิม  ล่าสุดขณะนี้ทางบริษัทผู้ผลิตในจีน ได้จัดส่งขบวนรถไฟฟ้าในเส้นทางดังกล่าวมาแล้ว โดยขบวนรถจะมาถึงไทย ในวันที่ 10 มิถุนายน  2563 นี้ โดยจัดส่งมาก่อน 1 ขบวนมี 2 ตู้โดยสาร จากจำนวนที่จัดซื้อทั้งหมด 3 ขบวน  โดยขบวนที่เหลือจะจัดส่งมาภายหลัง

นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง จะใช้รถ รุ่น Bombardier Innovia APM 300 ซึ่งผลิตจากเมืองอู่หู มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อรถมาถึงและผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้วจากนั้นจะมีการนำขบวนรถไฟฟ้ายกขึ้นสู่โรงจอดและซ่อมบำรุงที่สถานีกรุงธนบุรี เพื่อเตรียมการทดสอบระบบในช่วงเดือน มิถุนายนถึงกันยายน และทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) ในเดือนกันยายน ก่อนเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 นี้ซึ่งกำลังเร่งรัดงานในส่วนที่ล่าช้าจากผลกระทบโควิด-19

สำหรับรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 มีความพิเศษคือ เป็นระบบที่ใช้เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบไร้คนขับโดยใช้รางนำทาง มีผิวสัมผัสระหว่างล้อและทางวิ่งเป็นยาง ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวลและก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำ   ความเร็วการทำงานสูงสุดที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง  ขบวนรถที่ใช้ในระบบมีทั้งหมด 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ โดยใช้รับส่งผู้โดยสารจำนวน 2 ขบวน และสำรองไว้ในระบบ 1 ขบวน ความจุผู้โดยสาร 137 คน/ขบวน   รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร น้ำหนัก16,300 กิโลกรัม” นายมานิต กล่าว

นายมานิต กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้างโรงจอดและซ่อมบำรุง รวมถึงสถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีเจริญนคร (G2) และสถานีคลองสาน (G3) ความก้าวหน้าภาพรวม 88% แบ่งออกเป็นความก้าวหน้างานโยธา 93% และความก้าวหน้างานระบบการเดินรถ 81%