กูเกิล ร่วมแจม ประชุมออนไลน์ ส่ง Google Meet ใช้ฟรีให้เจอพร้อมกันสูงสุด 100 คนครั้งละ 1 ชั่วโมง



  • ตลาดประชุมออนไลน์เติบโตมากเพิ่มขึ้นวันละ 3 ล้านคน
  • เฟสบุ๊ก: : Messenger Rooms ใช้ฟรีได้สูงสุด 50 คนไม่จำกัดเวลา
  • Zoom: บริการฟรีใช้ได้ไม่เกิน 40 นาที ผู้ใช้เพิ่มทั่วโลกเพิ่มเป็น 300 ล้านคน

ตลาดประชุมออนไลน์กำลังใกล้จะเดือดปุดๆ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกปรับตัวเข้ากับ “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ new normal สำหรับคนทำงานได้เปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัดคือทำงานที่บ้านหรือ work from home ซึ่งอุปกรณ์สำคัญก็คือเครื่องมือสำหรับการประชุมออนไลน์ นับเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดตลาดหนึ่ง


ตัวเลขของกูเกิลได้ระบุว่าจำนวนผู้ใช้ประชุมออนไลน์เพิ่มทุกวันๆ ละ 3 ล้านคน และมีผู้ใช้ทุกวันๆ ละ 100 ล้านคน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสามของของผู้ใช้งานของเจ้าตลาดอย่าง Zoom


ทำให้ Google เริ่มเอาจริงกับตลาดนี้ด้วยการเปิดให้บริการฟรี และให้มีการช่วยงานที่ง่ายขึ้นคือ บริการ Google Meet ผู้ที่มีบัญชี Google ทุกคนโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้ใช้ G Suite สร้างห้องประชุมได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้

โดยแอปพลิเคชั่น Google Meet จะจำกัดให้เข้าได้ไม่เกิน 100 คน และจำกัดเวลาประชุมครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง และหลังจาก 1 ตุลาคม จะไม่จำกัดเวลาประชุม มีคุณสมบัติการใช้สำหรับการประชุมเช่น เข้าถึงง่ายด้วยการแชร์หน้าจอด้วยคลิกเดียว, คำบรรยายหน้าจอแบบเรียลไทม์​, การเห็นหน้า 16 คน ในหน้าจอเดียว

ด้านความปลอดภัยของ Google Meet เช่น การควบคุมผู้เข้าร่วมทำได้ดีกว่า, การเดาชื่อห้องทำได้ยาก, ไม่ต้องลงซอฟต์แวร์เพิ่มเติมเพื่อใช้งาน, และจะไม่นำข้อมูลไปขายหรือโฆษณาที่สำคัญรองรับการใช้งานหลากหลาย รองรับระบบปฏิบัติการ iOS และแอนดรอยด์

Facebook : Messenger Rooms

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เฟสบุ๊กได้ประกาศเปิดบริการใหม่ พัฒนาต่อยอดจากแอปพลิเคชั่น Messenger ซึ่งมีข้อจำกัดคือจำกัดจำนวนผู้ใช้พร้อมกันและทุกคนต้องมีบัญชีเฟสบุ๊กด้วย

Messenger Rooms สามารถรองรับการประชุมทางไกลออนไลน์ได้พร้อมกันสูงสุดถึง 50 คน ไม่จำกัดเวลา พร้อมลูกเล่นด้วยการนำเทคโลโลยี AR มาใช้ เพิ่มสีสันในการใช้งาน โดยผู้ใช้สามารถเข้าร่วมห้องสนทนาได้อย่างง่ายดายผ่านลิงก์ที่ผู้สร้างห้องสนทนาสร้างขึ้น และผู้เข้าร่วมไม่จำเป็นต้องมีแอคเคาท์ Facebook ก็ได้ อีกทั้งผู้ที่สร้างห้องสนทนายังสามารถเลือกได้ว่าใครจะเห็นและเข้าร่วมการสนทนาได้บ้าง และลบผู้ใช้ที่ไม่ต้องการให้เข้าร่วมการสนทนาได้ จะเริ่มให้บริการในบางประเทศในช่วงสัปดาห์นี้ และจะขยายบริการไปทั่วโลกในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดไป

Zoom ชี้แค่ 3 สัปดาห์ ผู้ใช้เพิ่ม 100 ล้านคน เป็น 300 ล้านคน


สำหรับ Zoom ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าตลาดการประชุมออนไลน์เพราะมาถูกที่ ถูกเวลากับบริการของเจ้านี้ที่เจ้าของมีประสบการณ์ทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์มาอย่างโชกโชน แม้ว่าในในช่างที่ผ่านมาจะประสบปัญหาสารพัด โดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวและพยายามแก้ไขมาตลอด มีการเพิ่มคุณสมบัติเช่นการตัดเสียงรบกวนจากภายนอก แต่จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา Zoom ได้ออกมาให้ตัวเลขจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ 200 ล้านคน และเพิ่มเป็น 300 ล้านคนอย่างรวดเร็ว ในจำนวนนี้มีทั้งผู้เสียเงินและใข้ฟรี

เรามาดูกันว่า Zoom เป็นใครกัน เจ้าของชื่อว่า “อิริก หยวน” ชาวจีน ผู้ก่อตั้ง Zoom VDO Communications วัย 50 ปี ล่าสุดเขาร่ำรวยติดอันดับ 500 มหาเศรษฐีโลกโดยบลูมเบิร์ก ณ วันที่ 30 เมษายน เขามีทรัพย์สิน 7,260 ล้านดอลลาร์สหรัญหรือประมาณ 236,000 ล้านบาท ร่ำรวยอันดับที่ 211 ของโลก เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 4.05 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 130,160 ล้านบาท

ชีวิตของเขาน่าสนใจมาก เขาเกิดในมณฑลซานตง ในจีน หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยปีแรกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ ในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยปีแรกในปี 2530 เขาได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาซอฟต์แวร์ videotelephony ในขณะที่เขานั่งรถไฟ 10 ชั่วโมงเพื่อเยี่ยมแฟนสาวของเขาและกำลังมองหาวิธีที่ง่ายกว่าในการไป “เยี่ยม” เขาจบปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชานตง
“หยวน” ทำงานในญี่ปุ่นสี่ปีหลังจากสำเร็จการศึกษา จากนั้นเขาย้ายไปที่ Silicon Valley ที่สหรัฐ ในปี 2537


การไปสหรัฐ เขาเพียรพยายามอย่างมากเพราะต้องขอวีซ่าถึง 9 ครั้งกว่าจะได้รับการอนุมัติ แน่นอนว่าเขาไปทำงานด้านนี้ กับ บริษัท WebEx บริษัทซอฟต์แวร์การประชุมทางไกล เมื่อ Cisco เข้าเทกโอเวอร์ WebEx ในปี 2550 เป็นรองประธานกรรมการฝ่ายวิศวกรรมเพื่อดูแล WebEx


การทำงานใน Cisco เขาเห็นข้อบกพร่องหลายๆ ด้านเช่น โปรแกรมช้า คุณภาพเสียงและวิดีโอไม่ดีนัก และยังไม่มีระบบ screen-sharing เมื่อใช้บนสมาร์ทโฟนและนำเสนอไปแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เลยออกมาตั้งบริษัทเองในปี 2554 พร้อมลูกน้องอีก 40 คน

เขาใช้เวลา 2 ปี สามารถดึงผู้ใช้บริการถึง 40 ล้านคน กับโมเดลธุรกิจใช้ฟรี และจ่ายเพิ่มเติม เหมือนในปัจจุบัน

ในปี 2561 Zoom ทำรายได้ไปถึง 330 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 10,700 ล้านบาท และมีพนักงานกว่า 1,700 คน และเขาเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นในสหรัฐ ในเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ทำให้เขาผงาดติดอันดับมหาเศรษฐีโลกทันที