

“ศักดิ์สยาม”ยังไม่เคาะแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยให้ไปทำรายละเอียดตัวเลขต้นทุน การปรับตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ กลับมาเสนออีกครั้งใน 1 สัปดาห์ พร้อมยืนยันผลกระทบจากไวรัส COVID ขณะนี้จะไม่ส่งผลกระทบให้การลงทุนในรัฐวิสาหกิจของคมนาคมต้องหยุดชะงัก
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟู และปฏิรูปธุรกิจ 2563-2567 ของ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ว่า ในการประชุมครั้งเป็นการประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารของการบินไทย โดยที่ประชุมยังไม่ได้มีการอนุมัติแผนฟื้นฟูฯที่การบินไทยนำมาเสนอกระทรวงคมนาคม โดยให้การบินไทย กลับไปทำข้อมูลรายระเอียด โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย ต้นทุน บริหารจัดการ รวมถึงเรื่องการปรับแผนธุรกิจ ซึ่งการบินไทยก็ปรับตัว เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การหันไปรุกในธุรกิจการขนส่งทางอากาศ (Cargo) ให้มากขึ้น แต่เรื่องนี้ยังติดรูปแบบธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเครื่องบินให้สอดคล้องกับการดำเนินการ ซึ่งต้องให้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. พิจารณารับรอง ที้งนี้รายละเอียดของแผนฟื้นฟูของการบินไทยทั้งหมด ที่ได้ให้การบินไทยกลับไปทำตัวเลขรายละเอียดเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่ฝ่ายบริหารการบินไทยจะกลับมานำกลับที่กระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง
นอกจากนั้นยังเห็นว่าควรที่จะมีการปรับแผนไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่มีศักยภาพเช่น ครัวการบินไทย ที่สามารถนำอาหารที่ผลิตจากครัวการบินไทย จัดส่งเป็นเดลิเวอร์รี่ เจาะกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ ซึ่งสามารถทำตลาดได้ ซึ่งแนวธุรกิจอย่างนี้จะสอดคล้องในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความต้องการของลูกค้า โดยประเด็นนี้ ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นำไปหารือใน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะดำเนินการอย่างไร ในส่วนของอาหารของครัวการบิน ที่สามารถนำไปจำหน่ายให้แก่ประชาชน ทั้งคุณภาพ ราคา ของอาหาร ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่าส่วนคำถามที่ว่าแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID หรือไม่ เนื่องจากตามแผนเดิมรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง จะมีการใช้รายได้และสภาพคล่องที่มีก่อนหน้านี้ จัดสรรเป็นเงินลงทุน แต่ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจเหล่านี้สูญเสียรายได้โดยเฉียบพลันโดยรายได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจการบิน ซึ่งขณะนี้สายการบินต้องหยุดบินชั่วคราวส่งผลโดยตรงกลับรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ทั้ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทอท .และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ บวท. ด้วยนั้น ในเรื่องนี้จะมีการรับฟังความจำเป็นของรัฐวิสาหกิจในสังกัดแต่ละแห่ง ขณะเดียวกันทางรัฐบาลได้เตรียมไว้แผนรองรับไว้แล้วเช่นกัน เช่น การออก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1.9 ล้านล้านบาท มทีั้งนี้ยืนยันว่าสถานการณ์ของไวรัส COVID ขณะนี้ไม่กระทบการลงทุนรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด