เริ่มแล้วงานประเพณีฟุตบอล”จุฬา-ธรรมศาสตร์”ครั้งที่ 74



เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติถึง บรรยากาศงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ที่สนามศุภชลาศัย ว่า ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งการจัดงานภายใต้แนวคิด “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักดั่งเช่นทุกปี โดยมีนิสิต-นักศึกษา รวมถึงศิษย์เก่า ทยอยเดินทางเข้าร่วมงานกันตั้งแต่ช่วงเช้า

กระทั่งเวลา 13.30 น. ได้เริ่มปล่อยขบวนเข้าสู่สนาม ซึ่งจุฬาลงกรณ์มี 3 ขบวน ได้แก่ ขบวนธง ที่ปีนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย  ขบวนสะท้อนสังคมต้องการส่งสารถึงสังคมให้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการใช้โซเชียลมีเดีย ไม่มองว่าผู้ที่เห็นต่างคือคนผิด หรือบุคคลที่สามต้องถูกสังคมประนาม และขบวนสื่อแนวคิดหลักจะนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาผ่าน 3 ขั้นตอน สิทธิความเท่าเทียมกัน , ถกเถียงถึงปัญหาที่มีร่วมกัน และตั้งเป้าสังคมที่ทุกคนวาดฝันร่วมกัน

ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้หยิบยกเรื่อง Social Bullying ผ่าน”ขบวนสื่อแนวคิดหลัก” มุ่งหมายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียในสังคม ให้เกิดความสร้างสรรค์และไม่ทำให้ใครตกเป็นจำเลยสังคม ส่วนไฮไลท์คือ “ขบวนล้อการเมือง” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกจับตาทุกปี ปีนี้ประกอบด้วย กลอนเปิด ล้อเลียนหยอก บอกกล่าว เล่าความคิด การณ์นี้สิทธิ แลเสียง ไร้ความหมาย เมืองไทยบอก มีประชา ธิป”ตาย” 74บอล ล่วงไป ไร้เปลี่ยนแปลง

ขบวนที่ 1. อนุสาวรีย์ประชาธิป “ตาย”’ อ้างอิงจากเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ล้อการเมืองไม่ขอระบุชัดเจนว่าครั้งไหน รัฐธรรมนูญที่ปลายยอดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกำลังมีภัย เพราะกลุ่มคนสีเขียวกระผลักเอียงกะเท่เร่หมายจะล้มให้จมดิน กำลังอำนาจที่มิชอบนั้นคงบรรลุความประสงค์ได้ดังใจหมายหากไม่มีประชาชนเป็นคนค้ำยัน ร่วมใจดันอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยให้กลับมามั่นคงตั้งตระหง่าน กลอน “อำนาจรัฐ ชัดเจน ว่าแกร่งกล้า สูงสุดฟ้า ลำปืน รัฐประหาร เป็นของต่ำ น้ำเน่า เนิ่นเนานาน ราษฎรต้าน รำคาญใจ”

ขบวนที่ 2.ปอดแหก อ้างอิงจากบทความเรื่องความอิหลักอิเหลื่อของวาระแห่งชาติว่าด้วยฝุ่น PM2.5 โดย Greenpeace Thailand ซึ่งปัญหาฝุ่น PM 2.5 สร้างผลกระทบต่อทุกคน หากแต่ผลกระทบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเสมอหน้า ขณะที่แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติที่กรมควบคุมมลพิษเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 อ้างว่าใช้แนวคิด “การป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle)” แต่มาตรการทั้ง 3 ด้านซึ่งได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (พื้นที่ที่มีปัญหา/พื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต) การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ไม่สะท้อนถึง Precautionary Principle แม้แต่น้อย แผนปฏิบัติการฯละเลยในเรื่องของแหล่งกำเนิด PM2.5 จากการผลิตไฟฟ้าอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ระบบฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในประเทศไทยที่หน่วยงานรัฐดูแลอยู่นั้นระบุถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน

ทั้งยังปรากฏถ้อยคำชวนเชื่อให้ประชาชนคิดว่าปัญหาฝุ่นดังกล่าวนั้นไม่รุนแรง ยิ่งไปกว่านั้นคือหากผู้นำไม่จริงจังจริงใจในการพูดคุยถึงปัญหาแล้วคนที่อยู่ปลายแถว หรือผู้ปฏิบัติจะมีนโยบายจะจริงจังได้อย่างไร กลอน “ซากหนึ่งฟุบ ดมฝุ่น จนขุ่นปอด คนหนึ่งฟอด ชีวิตดี มีเครื่องใช้ ซากหนึ่งเฝ้า เขามาแล แก้หมอกภัย คนหนึ่งไฝว้ ไม่ดูแล “แก้กันเอง”

ขบวนที่  3. เศรษฐีนอนสบาย โทษตายคือยาจก อ้างอิงจากแคมเปญต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้นำรณรงค์เคลื่อนไหวในนาม ‘เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน’ ให้มีการปฏิรูประบบการประกันตัวเพื่อช่วยเหลือคนจนที่ต้องติดคุกระหว่างรอการพิจารณาคดี  ผู้ต้องสงสัย ที่ถูกจับกุม ณ ที่เกิดเหตุ จะต้องถูกฝากขัง เพื่อไม่ให้หนีไปก่อนพิจารณาคดี แต่เขาสามารถวางเงินประกันเพื่อซื้ออิสรภาพช่วงรอพิจารณาคดีนั้นได้ ในทางกลับกัน คนที่ไม่มีเงินเอาไว้ประกันตัวเอง จะต้องติดคุกระหว่างรอการพิจารณา กลอน “มีดคมลับ สับลง ตรงบั่นหัว มีดใบมัว หั่นหนึ่งกุด หัวหลุดหาย มีดคมลับ สับอีกหนึ่ง ไม่ถึงตาย มีดทื่อปลาย อนิจจา เลือกฆ่าคน”

ขบวนที่ 4.พรรคเป็นพิษ อ้างอิงจากแนวคิดเรื่องความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมืองและสุภาษิตหมองูตายเพราะงูในทางการเมืองนั้น คำว่า “งูเห่า” นายสมัคร สุนทรเวช เป็นคนแรกที่นำมาใช้ เมื่อพ.ศ.2541 โดยนายสมัคร ขณะเป็นหัวหน้าพรรคประชากรไทย เปรียบเทียบงูเห่ากับส.ส.กลุ่มของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเดิมสังกัดพรรคชาติไทย แต่ภายหลังขัดแย้งกับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค จึงไม่มีพรรคสังกัด จนในที่สุดมาเข้าสังกัดพรรคประชากรไทยที่นายสมัคร เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาได้กระทำการขัดต่อมติพรรค แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า “งูเห่า” อาจไม่ได้หมายความถึงส.ส.ที่กระทำการขัดต่อมติพรรคเสมอไป

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบัน ว่าด้วยเรื่องของพรรคการเมืองหนึ่งที่มีส.ส.บางกลุ่มในพรรคกระทำการขัดต่อมติพรรค และต่อมาได้มีมติขับส.ส.กลุ่มดังกล่าวออกจากพรรคนั้น คำว่า “งูเห่า” ในที่นี้อาจหมายความถึงอุดมการณ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นประชาธิปไตย การเบียดขับผู้คิดต่างให้เป็นขั้วตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพรรคที่ใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นจุดขาย หากผู้สนับสนุนพรรคเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ย่อมหมายความถึงการละทิ้งซึ่งรากฐานของอุดมการณ์ประชาธิปไตย กลายเป็น ”งูเห่า” ที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตยเฉกเช่นเดียวกัน กลอน “ปิด เปลี่ยน ผันไปกว่าครึ่งทศวรรษมั่น ลุง อยู่ยันคงทนอย่างแน่นหนา ได้ สรรสร้างวีรกรรมมากนับคณา แล้ว ประชาต้องอดทนถึงเมื่อใด”

อย่างไรก็ตามก่อนขบวนจะเคลื่อนเข้าสู่สนาม มีรายงานแจ้งว่า มีคำสั่งให้คณะทำงานขบวนพาเหรดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปลดป้ายผ้าที่มีข้อความบางอย่าง ออกจากหุ่นรูปนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เป่านกหวีดหน้างูเห่าแผ่พังพานมีสัญลักษณ์พรรคอนาคตใหม่ด้วย