

ครม. เห็นชอบยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในการจัดอบรมสัมมนาให้แก่ลูกจ้างภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
นายอนุกูล กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ) ที่กระทรวงการคลังเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (4 มิถุนายน2567) เห็นชอบมาตรการภาษีที่เพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณามาแล้ว รวมทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมสรรพากรได้ยืนยันร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 พ.ค. 2567 ถึง 30 พ.ย.67 (รวม 7 เดือน)
โดยมีสาระสำคัญเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรองและในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นภายในประเทศ ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 (รวม 7 เดือน) ดังนี้
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในการจัดอบรมสัมมนาให้แก่ลูกจ้างภายในประเทศ 1) หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริงสำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง เช่น จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดสุโขทัย หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (พื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก) เช่น อำเภอเขาพนมและอำเภอปลายพระยาในจังหวัดกระบี่ และอำเภอบ้านบึงและอำเภอพนัสนิคมในจังหวัดชลบุรี
2) หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพ
3) หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด เนื่องจากการจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในพื้นพื้นที่ต่อเนื่องกัน และให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตาม 1) หรือ 2) แล้วแต่กรณี
นอกจากนี้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าบริการหรือค่าที่พักในท้องที่ในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยสามารถหักลดหย่อนค่าบริการได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดและต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น
ปชช.ที่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการ หักลดหย่อนภาษีได้ในระบบยื่นภาษีออนไลน์
นายอนุกูล กล่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไปแล้วเมื่อ (4 มิถุนายน2567) มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการจะสิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 โดยได้มีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ โดยประชาชนที่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการนี้สามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ที่ออกโดยผู้ประกอบการมายื่นเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้ในระบบยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากรในปีภาษี 2567 ได้ (ยื่นแบบแสดงรายการภายใน 31 มีนาคม 2568)
“กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดการณ์ว่า การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) จะทำให้รัฐสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท และการดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ581.25 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ ช่วยสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” นายอนุกูล ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกฯ แจ้งที่ประชุม ครม. พร้อมลงภาคใต้ ขอ ศปช. ส่วนหน้าสรุปแผนแก้ไขน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว