

สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในเวลาอันสั้นขณะนี้ ทำให้หลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน สมาคมการค้าต่างๆ
เกิดความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่มีต่อภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และลงทุน ที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นหลัก และเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้
ถึงขนาด “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์ ฉุนกึกต่อว่า “นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ”
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาแก้ปัญหา พร้อมตั้งคำถาม “ไม่รู้ว่าจบจากไหน”
ขณะเดียวกัน หน่วยงานข้างต้น ได้ทยอยออกมาชี้แจงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล และ ธปท. ผู้กำกับดูแลนโยบายการเงิน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทย แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
และล่าสุดภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า สั่งการให้ “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง หารือกับธปท. แล้ว และ “นายพิชัย” ก็รับลูกทันที ได้นัดหารือกับผู้ว่าธปท.สัปดาห์หน้า
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขนาดนี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหนักหนาสาหัสเพียงใด และแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างไร วันนี้มีคำตอบ
เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 30 เดือน
สำหรับค่าเงินบาทที่แข่งค่าขึ้นนั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง ในระยะเวลาอันสั้น
โดยตั้งแต่ต้นปี 67 อยู่ที่กว่า 37 บาท/ดอลลาร์ และแข็งค่าขึ้นเป็น 36 บาทกว่า สัปดาห์ที่แล้ว 33 บาทดอลลาร์ และเริ่มหลุด 33 บาทตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 23 ก.ย.67 มาอยู่ที่ 32.91 บาท/ดอลลาร์ หรือแข็งค่าแล้วกว่า 10-12%
และล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 ก.ย.67 มีจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าถึง 32.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบ 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เดือนมี.ค.65
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า มีสาเหตุสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ของจีน ที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าตามทิศทางเงินหยวน
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.ของสหรัฐฯ แย่กว่าที่ตลาดคาด จึงทำให้ตลาดมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสมากขึ้นที่จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ย.นี้
ขณะเดียวกัน ราคาทองคำในตลาดโลก ทำ new high จึงทำให้มี flow ในฝั่งส่งออก (แรงขายดอลลาร์ ซื้อบาท) โดย ณ วันที่ 25 ก.ย.67 เงินบาทกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32.65 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่เปิดตลาด32.60 บาท/ดอลลาร์
ส่งออกเกษตรสูญรายได้ 5 หมื่นล้าน
แม้เงินบาทที่แข็งค่า จะส่งผลดีต่อฝ่ายที่นำเข้าสินจากต่างประเทศ อย่างพลังงาน สินค้าทุนและวัตถุดิบต่างๆ ที่นำเข้ามาผลิตเป็นสินค้าส่งออก ที่จะมีราคาถูกลง และทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตลดลงตาม
แต่กลับกัน กลับส่งผลกระทบอย่างมากต่อฝ่ายส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เพราะเมื่อนำรายได้จากการส่งออกที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาแลกเป็นเงินบาทแล้ว ทำให้รายได้ลดลงฮวบฮาบ!!
จากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ที่ 1 ดอลลาร์ เคยแลกได้ 36-37 บาท มาวันนี้ลดลงเหลือไม่ถึง 33 บาทแล้ว ผู้ส่งออกรายเล็ก รายกลาง อาจกำไรหดจนขาดทุน และมีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินได้
ส่งผลให้หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจ พร้อมกับเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง และธปท.เร่งแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที
“นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์” รองประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว รุนแรง กระทบต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันราคาส่งออก ทำให้ราคาส่งออกสินค้าไทยแพงกว่าคู่แข่ง และคู่ค้าอาจหันไปซื้อสินค้าจากคู่แข่ง ที่ค่าเงินอ่อนค่ากว่า หรือไม่แข็งค่าเท่ากับไทย
อีกทั้งยังทำให้รายได้จากการส่งออกหายไป โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และไม่ได้ประโยชน์จากการนำเข้าที่ถูกลง อย่างสินค้าเกษตร หรือเกษตรกรแปรรูป เช่น ข้าว ไก่ อาหารกระป๋อง ที่ถึงขณะนี้รายได้จากการส่งออกหายไปแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท
หากเงินบาทยังแข็งค่าในระดับนี้จนถึงปลายปี รายได้จะหายไปกว่า 130,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงบประมาณที่รัฐนำมาแจกเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง ที่ 145,000 ล้านบาท
ส่วนการเจรจาออร์เดอร์ขณะนี้ เพื่อส่งมอบในเดือนพ.ย.-ธ.ค. อาจทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้ารับออร์เดอร์ เพราะเงินบาทผันผวน ซึ่งอาจทำให้ยอดส่งออกในช่วงปลายปีลดลงได้
ไม่เพียงแค่นั้น ยังกระทบต่อเกษตรกรด้วย อย่างกรณีส่งออกไก่ ข้าว เมื่อแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ เพราะราคาแพงกว่าคู่แข่ง ผู้ส่งออกก็จำเป็นต้องลดราคามาสู้
ส่งผลให้ต้องซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในราคาต่ำ เพื่อให้ยังขายส่งออกได้แบบมีกำไร และเกษตรกรก็ได้รับความเดือดร้อน ขายผลผลิตได้เงินน้อย ไม่คุ้มทุน
อีกทั้งยังกระทบต่อการท่องเที่ยว และภาคบริการ ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ชะลอการตัดสินใจ หรือยกเลิกมาเที่ยวไทย เพราะราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติ
จึงขอให้ภาครัฐและธปท. กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนรุนแรงจนเกินไป และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย
จี้ ธปท. ลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาบาทแข็ง
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณที่เงินบาทจะอ่อนค่า แต่อาจแข็งค่าขึ้นอีก จากการที่จีนออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยตามหลังสหรัฐฯ และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น จึงถึงเวลาที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องลดดอกเบี้ยนโยบายตามเทรนด์โลก
“นายธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีสัญญาณที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก เพราะหากเศรษฐกิจไทยดีตามเศรษฐกิจโลก ก็จะมีเงินไหลเข้ามาในไทยอีก
ดังนั้น กนง. ต้องพิจารณาถึงการลดอัตราดอกเบี้ย เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว และแรงที่ 0.50%
“น่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น”
ขณะที่ “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่ประเทศไทย กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ หอการค้าไทย จะนัดหารือกับกระทรวงการคลัง และธปท. เพื่อให้ช่วยหาทางแก้ปัญหาค่าเงินบาท และหนี้ประชาชน หนี้เอสเอ็มอี ที่ฉุดกำลังซื้อในประเทศ
พร้อมกันนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันจะยื่นสมุดปกขาวให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย
คลังคุย ธปท. สัปดาห์หน้าหาทางออก

ด้านกระทรวงการคลัง “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ย้ำว่า สัปดาห์หน้าได้นัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ ทั้งกรอบเงินเฟ้อ และค่าเงินบาท
พร้อมระบุว่า “เมื่อเทียบกับคู่ค้าแล้ว เงินบาทแข็งค่ากว่าคู่ค้า ไม่ว่าจะเทียบกับเงินหยวนของจีน เงินด่องของเวียดนาม เงินเยนของญี่ปุ่น รูเปียะห์ของอินโดนีเซีย และริงกิตของมาเลเซีย ทำให้เราเสียเปรียบ คนที่ดูแลเรื่องนี้ต้องจับไปเป็นปัจจัยว่า ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะอะไร”
นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลใช้มาตรการทางการคลังไปอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดต้องสัมพันธ์กับนโยบายการเงิน ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายจะต้องดูความเหมาะสม หากสูงเกินไปก็ไม่เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโต ถือเป็นนโยบายที่สวนทาง ธปท.ต้องดูให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงหรือไม่
“อยากจะเชิญชวน ธปท.มาทำงานร่วมกันระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งนโยบายการเงินควรมีสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ หากลองถอดหมวกแล้วมานั่งทำงานร่วมกัน ก็จะหาจุดร่วมที่นโยบายการเงินและการคลังไปด้วยกันได้ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “แพทองธาร” หวังใช้ประโยชน์จากบาทแข็งค่าให้เกิดประโยชน์เศรษฐกิจ