

กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลการดำเนินงานสนับสนุน ส่งเสริมเอสเอ็มอี ผ่าน 6 โครงการ สู่การเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรมมืออาชีพ เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตในพื้นที่ สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ เสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้กว่า 4.9 พันคน กระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 1.4 พันล้านบาททั่วประเทศ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน ผ่าน 6 โครงการหลักที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายรายได้ เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตในพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณปี 2567 ประกอบด้วย
1. โครงการสร้างผู้ประกอบการจากช่างมืออาชีพ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจและผู้ประกอบการในกลุ่มอาชีพช่าง เช่น ช่างแอร์ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สามารถต่อยอดทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว เพิ่มจุดเด่นและมูลค่าให้กับการบริการ มีองค์ความรู้การบริหารจัดการธุรกิจ เริ่มต้นดำเนินธุรกิจ จนสามารถจัดตั้งและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและอยู่รอดในสังคมได้อย่างยั่งยืน และการเขียน Business Model Canvas รายบุคคล ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 662 คน (เป้าหมาย 600 คน)
2. โครงการสร้างเสริม เติมทักษะ สู่อาชีพดีพร้อม เพื่อเพิ่มทักษะ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างรายได้ และเงินหมุนเวียนในชุมชน รองรับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน ผ่านการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความต้องการในแต่ละพื้นที่ อาทิ สาขาอาหารและเครื่องดื่ม สาขาสมุนไพร สาขาผ้าและเครื่องแต่งกาย สาขาของใช้ของตกแต่ง สาขาบริการ นำองค์ความรู้ในการเป็นผู้ให้บริการด้านการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม ดำเนินการในพื้นที่ 18 จังหวัด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,980 คน (เป้าหมาย 1,800 คน)
3. โครงการพัฒนานักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมพัฒนาความรู้และเพิ่มทักษะองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ การพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การยกระดับศักยภาพตลอดห่วงโซ่เกษตรอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็ง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ผ่านหารฝึกอบรม 3 หลักสูตร ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด และด้านการจัดการด้านการเงิน ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน (เป้าหมาย 480 คน) ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในภาพรวมใน 3 โครงการได้พัฒนาผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนนักศึกษา ผู้ว่างงาน และประชาชนในพื้นที่กว่า 3,142 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 467 ล้านบาท
4. โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจด้วยบริการปรึกษาแนะนำเบื้องต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขปัญหา ริเริ่ม ต่อยอด เชื่อมโยงธุรกิจและแหล่งเงินทุน ผ่านรูปแบบของการให้บริการข้อมูลธุรกิจและคำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น
โดยดำเนินการในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 613 คน (เป้าหมาย 532 คน) สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 247 ล้านบาท
5. โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นและสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีการแปรรูป และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในสถานประกอบการ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ซึ่งเข้าร่วมกว่า 288 คน 24 กิจการ (เป้าหมาย 240 คน 24 กิจการ) ทั้งอาหารแปรรูป เกษตรแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 50 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 430 ล้านบาท
6. โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่การแข่งขันเศรษฐกิจวิถีใหม่ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ ให้มีศักยภาพรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ แบ่งเป็น จัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ ความสามารถที่จำเป็น เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล และสอดคล้องกับภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่เป้าหมาย 27 จังหวัด มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม 849 คน (เป้าหมาย 810 คน)

ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำวิสาหกิจ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจทั้งโซ่อุปทานในพื้นที่ 19 จังหวัด มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 72 กิจการ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 239,944,081.18 บาท และสร้างรายได้ได้กว่า 86,574,482 บาท รวมทั้งการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ หรือต้นแบบวัสดุอุตสาหกรรม ของสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมศักยภาพในพื้นที่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมในพื้นที่เข้าสู่เศรษฐกิจวิถีใหม่ในพื้นที่ 18 จังหวัด มีผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนา 55 ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 23,897,872 บาท และสร้างรายได้ได้กว่า 8,016,286 บาท
“ทั้ง 6 โครงการดำเนินการเสร็จเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อมุ่งสู่นักธุรกิจอุตสาหกรรมมืออาชีพกว่า 4,900 ราย กระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 1,400 ล้านบาท ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ มั่นใจจะเป็นอีกฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเวลานี้” นายณัฐพลกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงอุตฯ จับมือ “สภาอุตฯ” ช่วย อุตสาหกรรมดั้งเดิม เพิ่มขีดความสามารถ