ครม.สัญจรเหนือ4จังหวดของบท่องเที่ยว-สนามบิน5.7พันล้าน



นายกฯเศรษฐานำครม.ประชุมสัญจรภาคเหนือตอนบน “ภาคีเครือข่ายกรอ.” ชงโปรเจกต์ท่องเที่ยวของบรายจังหวัดรวมกว่า 5,704 ล้านบาท

  • ครม.สัญจรภาคเหนือ 4 จังหวัดตบเท้าของบพิเศษท่องเที่ยวคักคัก
  • น่านพะเยาดันงบสนามบินใหม่เชียงรายปั้นเมืองสร้างสรรค์แพร่ทำเมืองแฟชั่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมสัญจรที่ภาคเหนือตอนบน ระหว่างวันที่ 18-19  มีนาคม 2567 ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ได้จัดทำแผนเสนอขอ “งบประมาณการท่องเที่ยว” แยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 โครงการสำคัญที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี หรือ Quick Win เน้นนำไปใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่วนที่ 2 โครงการสำคัญเป็นความต้องการของภาคีเครือข่ายคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยจัดทำโครงการแบ่งของบประมาณเป็น 2 ชุด รวมทั้งสิ้น 5,704.501 ล้านบาท 

ชุดที่ 1 งบดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ใน 4 จังหวัด เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ รวม 55 ล้านบาท เสนอ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1 พัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวเชิงอาหาร Gastronomy Tourism สู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนยืน งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน สำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน หน่วยงานดำเนินงานร่วม สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 และโครงการที่ 2 A Cup to Village เพิ่มขีดความสามารถการเป็นนวัตกรด้านชาและกาแฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมอย่างยั่งยืน งบประมาณ 15 ล้านบาท โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ส่วนภาคเครือข่าย กรอ.เสนอโครงการที่ 3 พัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวมูลค่าสูง และจัดตั้งศูนย์ประสานงานเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก 5 ล้านบาท โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (มหาวิทยาลัยพะเยา)

ชุดที่ 2 งบเสนอขอทำโครงการแยกรายจังหวัดตามแผนงานแตกต่างกัน โดยมีภาคีเครือข่ายความต้องการของ กรอ.เสนองบมูลค่าสูง ระบุเพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนโครงการไฮไลต์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว 4 จังหวัด เรียบงลำดับตามวงเงินงบประมาณมากสุดไปถึงน้อยสุดดังนี้ อันดับ 1 จังหวัดน่าน 3,764.5 ล้านบาท กรอ. เสนอของบประมาณเบื้องต้น 3,727 ล้านบาท 4 โครงการ ไฮไลต์คือโครงการผลักดันการพัฒนาศักยภาพ “ท่าอากาศยานน่านนคร” เพื่อก่อสร้างขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน องค์ประกอบอื่น ๆ ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารสนามบิน ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน งบประมาณรวม 2,600 ล้านบาท โดยกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม กับโครงการผลักดันสะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ (กลุ่มจังหวัด) งบประมาณ 831 ล้านบาท โดยกรมทางหลวง

อันดับ 2 จังหวัดเชียงราย 1,439.93 ล้านบาท กรอ. เสนอของบประมาณ 1,389.93 ล้านบาท ทำ 5 โครงการหลัก 6 โครงการย่อย ไฮไลต์คือ โครงการพัฒนาเชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ 1,000 ล้านบาท โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองรับผิดชอบ อันดับ 3 จังหวัดพะเยา 283.619 ล้านบาท กรอ.ของบประมาณ 257.499 ล้านบาท ทำ5 โครงการ ไฮไลต์คือโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดศรีโคมคำพระอารามหลวง อำเภอเมือง 166.619 ล้านบาท โดยกรมธยาธิการและผังเมือง กับสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมเสนอเร่งรัดจัดตั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพะเยา เสนอโดยหอการค้าจังหวัดพะเยา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งทางภาคีเครือข่าย กรอ.เสนอให้พิจารณา “ก่อสร้างสนามบินจังหวัดพะเยา” แยกออกไป ระบุจะใช้ที่ดินก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่พะเยาครอบคลุม 2 ตำบล ได้แก่ ดอนศรีชุม และบ้านถ้ำ ในอำเภอดอกคำใต้ โดยไม่ได้ระบุงบประมาณที่จะนำเสนอ ครม.สัญจร ครั้งนี้

ทั้งนี้มีข้อมูลปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ กรมท่าอากาศยาน ยืนยันท่าอากาศยานพะเยา จะเริ่มก่อสร้างปี 2569 ใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จ 2 ปี จะเปิดใช้บริการได้ปี 2572 เป็นต้นไป  มูลค่าการก่อสร้างเบื้องต้นประมาณ 2,000 ล้านบาท ค่าเวรคืนที่ดินประมาณ 1,352 ไร่ ประเมินเมื่อปี 2562 ประมาณ 1,700 ล้านบาท มูลค่าการดูแลรักษาสนามบินตลอด 30 ปี ประมาณ 720 ล้านบาท 

อันดับ 4 จังหวัดแพร่ 161.452 ล้านบาท กรอ. เสนอของบประมาณ  116.452 ล้านบาท ทำ 8 โครงการ  ไฮไลต์คือ โครงการยกระดับการท่องเที่ยวพื้นที่หอชมวิวริมน้ำยม ตำบลป่าแมต 15 ล้านบาท โดยเทศบาลตำบลป่าแมต  โครงการปรับภูมิทัศน์และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดแพร่ 15 ล้านบาท โดย อบจ.แพร่

โครงการยกระดับผ้าทอแพร่ครบวงจร สู่ระดับสากล 30.377 ล้านบาท โดยกรมพัฒนาชุมชน โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการแฟชั่นจังหวัดแพร่ และทดลองตลาด 10 ล้านบาท โดยกรมพัฒนาชุมชน และโครงการพลิกโฉมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมแฟชั่นจังหวัดแพร่ด้วยเอไอ ปัญญาประดิษฐ์ Transforming Phrae Industry With AI 10 ล้านบาท โดย อบจ.แพร่ โครงการจัดทำ 4F ฟู้ด/แฟชั่น/ฟิล์ม/เฟสติวัล 15 ล้านบาท โดย อบจ.แพร่ -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน