

ธอส. ไม่ปิด…รับมีลูกหนี้อ่อนแอต่อตกชั้น 15% ของพอร์ตรวม 1.71 ล้านล้านบาท เผยมีมาตรการช่วยเต็มที่ แย้มมีแผนตัดขายหนี้เสียหมื่นล้านให้เอเอ็มซีแบงก์รัฐ
- ชี้จากการเก็ยสถิติพบ ลูกหนี้รายย่อยประวัติดีทิ้งบ้านน้อย สามารถชำระหนี้หมดใน 11.5 ปี
- เผยหนี้เสียที่จะขาย มีการตั้งสำรองหนี้ไว้ทั้งจำนวนแล้ว ไม่กระทบต่องบดุล
- ปัจจุบันธนาคารมีหนี้เสียอยู่ที่กว่า 6.6 หมื่นล้าน หรือ 3.87% ของพอร์ตสินเชื่อ 1.71 ล้านล้านบาท
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธอส. มีลูกหนี้สินเชื่อบ้านที่อยู่ในภาวะอ่อนแอในการผ่อนชำระ โดยอาจตกชั้นกลายมาเป็นหนี้เสียถึง 15% ของพอร์ตสินเชื่อรวมที่อยู่ที่ 1.71 ล้านล้านบาท ซึ่งธนาคารก็ได้เตรียมมาตรการออกมารองรับเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ในภาพรวมของลูกหนี้ในระบบทั้งหมดที่กำลังตกชั้นมีสูงราว 30% แต่ของธนาคารอยู่ที่ 15% ของพอร์ต ซึ่ง ธอส.ก็พยายามช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้เต็มที่
ทั้งนี้ จากมาตรการดูแลลูกหนี้ในช่วงโควิด-19 ที่ธนาคารไม่พักหนี้ทั้งพอร์ต ทำให้พบว่า มีลูกหนี้กลุ่มรายย่อยที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำ เป็นกลุ่มที่มีประวัติการชำระหนี้ และมีโอกาสทิ้งบ้านน้อยกว่าลูกหนี้ที่มีวงเงินกู้สูงๆ
“ที่ผ่านมา ธอส.ไม่พักหนี้ทั้งพอร์ต เพราะเชื่อว่า ยังมีลูกหนี้ที่เขาต้องการชำระหนี้ตามปกติ หากรายใดต้องการพัก เราก็จะจัดให้ลงทะเบียนเพื่อร่วมโครงการ ซึ่งจากสถิติการชำระหนี้นั้น พบว่า มีลูกหนี้ที่สามารถชำระหนี้ได้ก่อนกำหนดโดยเฉลี่ย สามารถชำระหนี้ได้หมดภายใน 11.5 ปี จากระยะเวลาชำระหนี้ 30 ปี“

นายกมลภพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนที่จะตัดขายหนี้เสียบ้านออกไปให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ที่แบงก์รัฐแห่งหนึ่งกำลังจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นการบริหารพอร์ตสินเชื่อรวมให้มีสถานะที่ดีขึ้น โดยหนี้เสียดังกล่าวธนาคารได้มีการตั้งสำรองหนี้ไว้ทั้งจำนวนแล้ว ดังนั้นจึงไม่กระทบต่องบดุลของธนาคารแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธอส.เคยมีแผนที่จะจัดตั้งเอเอ็มซีด้วยตัวเอง แต่เมื่อทำการศึกษาพบว่า ด้วยกฎหมายจัดตั้งของธนาคารนั้น สามารถรับซื้อหนี้เสียได้เฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น จึงไม่คุ้มค่าต่อการจัดตั้ง ดังนั้นธนาคารจึงเลือกใช้แนวทางที่จะขายหนี้เสียออกไปจะดีกว่า
“ทางธนาคารออมสิน มีแผนที่จะจัดตั้งเอเอ็มซีขึ้นมารับซื้อหนี้เสียของแบงก์รัฐ ซึ่งทาง ธอส. ก็มีแผนจะเข้าร่วม โดยการขายหนี้เสียของธนาคารออกไป เป็นวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอดสินเชื่อรวมที่ 1.71 ล้านล้านบาท ซึ่งถือดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 4.16% และยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ โดยธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนสูงถึง 147,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.09% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL ที่ระดับ 221.87% สะท้อนถึงความมั่นคงและพร้อมในการรองรับผลกระทบในอนาคต