

รองนายกฯ “สมศักดิ์” รุกยุทธศาสตร์ชายแดนใต้หนุนงานวิจัย บพท.-มอ. หนุน “ปัตตานี” ผงาดเมืองเศรษฐกิจปูทะเลโลก
- เสนอรัฐดึง 2 กระทรวง “เกษตรและสหกรณ์-ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ร่วมวงพัฒนาประมงชายฝั่งโตยั่งยืน
- ชี้ที่ผ่านมา เกิดปัญหาขาดแคลนแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดอง เพื่อใช้เพาะพันธุ์และอนุบาล
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมแสดงความชื่นชมโครงการวิจัยปูทะเลแก้จนของคณะวิจัยมอ.ปัตตานี รวมทั้งได้รับข้อเสนอการพัฒนาอาชีพประมงชุมชนชายฝั่งทะเลไปพิจารณาด้วย ระหว่างลงพื้นที่ก็ได้ติดตามความคืบหน้าการขยายผลความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามรูปแบบการเพาะฟักโดยแม่พันธุ์ไข่นอกกระดอง
โดยมีคณะของทางจังหวัดเข้าร่วมและให้การต้อนรับเป็นอย่างดี คือนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผศ.ดรมนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ รศ.ดร.กรรณิการ์ สหกะโร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี

ทางด้าน รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม กล่าวว่า ได้รายงานความก้าวหน้าแนวทางการพัฒนาการเพาะพันธุ์ และเพาะเลี้ยงปูทะเลที่ยกระดับขึ้นมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีบทบาทอย่างสูงสร้างรายได้ สร้างอาชีพ แก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแม่นยำแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะได้งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของประเทศสู่เมืองปูทะเลโลก ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กำหนดโจทย์วิจัยมุ่งให้เกิดการค้นคว้าหาความรู้วิธีเพาะฟักลูกปูจากแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดอง เพื่อขยายพันธุ์กับเพิ่มปริมาณปูทะเลให้เพียงพอจะส่งเสริมเป็นอาชีพที่มั่นคง สามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่ผ่านมาเกิดปัญหาขาดแคลนแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดองเพื่อใช้เพาะพันธุ์และอนุบาล จึงเป็นเงื่อนไขอุปสรรคสำคัญส่งผลให้การเพาะและขยายพันธุ์ปูทะเลในไทย เนื่องจากปกติปูทะเลจะอาศัยบริเวณชายฝั่งป่าชายเลน แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องปล่อยไข่ให้ออกไปอยู่นอกกระดอง ปูจะว่ายน้ำไปนอกชายฝั่งในช่วงที่ไข่ยังอยู่ในตัวเพื่อไปหาแหล่งที่เหมาะสมที่ระดับความลึกราว 30 -50 เมตร เมื่อคณะนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี สามารถพัฒนาเทคโนโลยีระบบการกระตุ้นแม่พันธุ์ปูทะเลให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดอง ภายในศูนย์เพาะฟักลูกปู ทำให้สามารถก้าวข้ามเงื่อนไขอุปสรรคได้

รศ.ดร.ซุกรี กล่าวว่า ระบบและวิธีนี้สามารถกระตุ้นให้แม่ปูที่มีไข่ในกระดองให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดองและฟักออกมาเป็นลูกปู เพื่อนำไปอนุบาลได้ถึง 75-85 % ปัจจุบันแม่ปูทะเลที่มีไข่นอกกระดองหรือลูกปูที่ผลิตได้จากโครงการวิจัยฯ นำไปส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่สนใจรับลูกปูไปอนุบาลต่อไปเพื่อให้บริการเกษตรกรและเพิ่มปริมาณปูทะเลในแหล่งน้ำธรรมชาติ บนหลักการเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันปัตตานีเป็นเมืองปูทะเลโลก
โดย รศ.ดร. ซุกรี ได้นำเสนอข้อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมและบูรณาการการทำงานต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปูทะเล สนับสนุนการพัฒนาการผลิตแม่ปูและพัฒนาพันธุ์ปูของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตลอดจนการดำเนินงานของโรงเพาะฟักสัตว์น้ำให้สมบูรณ์เพื่อให้สามารถพัฒนาเทคนิคและผลิตลูกปูได้อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ มีส่วนร่วมในการผลิตลูกปูและส่งเสริมการเลี้ยงปูให้แก่เกษตรกร พร้อมกับขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มการนำพื้นที่ป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์ ควบคู่กันไปด้วย

รวมทั้งขอให้ภาครัฐควรสนับสนุนและต่อยอดการดำเนินงาน “ธนาคารปูม้าชุมชน” ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดมาตรการช่วยเหลือด้านราคาปลากะพงขาว สร้างระบบนิเวศทางเลือกอาชีพใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชายฝั่งที่โยงกับฐานทรัพยากร เช่น การท่องเที่ยวรอบอ่าวปัตตานี เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแก่ชุมชนชายฝั่งทะเลในอนาคตเพื่อทำให้คนในจังหวัดชายแดนใต้มีอาชีพที่ยั่งยืน
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen