รวยแล้ว!! บินไทยครึ่งแรกปี’66 กำไร 329% มีเงินสด 5.1 หมื่นล้าน



การบินไทยครึ่งแรกปี’66 กวาดกำไร 14,795 ล้านบาท โต 329% กำ “เงินสด” อื้อ 51,153 ล้านบาท สะสมไว้จ่ายลูกหนี้กลางปี’67 ล็อตแรกหมื่นล้าน

  • ไตรมาส 2 ปี 66 ทุบสถิติทำกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท เพิ่ม 171% สูงสุดในรอบ 20 ปี
  • ลุย 5 เรื่อง เร่งนำฝูงบินเช่าใหม่และของไทยสมายล์ เปิดเส้นทางบินใหม่ทั่วไทย ทั่วโลกเพิ่มเพียบ
  • เริ่มแล้ว ส.ค.66 ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย อินโดจีน

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บมจ.การบินไทยและบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงาน 6 เดือน ครึ่งปีแรก 2566 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2565 มี “กำไรจากการดำเนินงาน” สูงถึง 21,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 584 % และมี “กำไรสุทธิ” 14,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 329 % ต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส และมี “กระแสเงินสด” สิ้นงวด 6 เดือน เมื่อมิถุนายน 2566 รวมทั้งหมด 51,153 ล้านบาท สูงกว่าสถานการณ์ปกติจะมีกระแสเงินสดเพียง 20,000-25,000 ล้านบาท ถึงแม้ขณะนี้จะมีเงินสดสะสมอยู่ในมือจำนวนมากแต่ก็ยังไม่ได้ทยอยจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ ตามแผนจะเริ่มจ่ายหนี้ให้แต่ละรายได้ใกล้เคียงกันประมาณกลางปี 2567 วงเงินชำระหนี้ล็อตแรก 10,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บมจ.การบินไทย และบริษัทย่อย ทำ “รายได้รวม” ครึ่งปีแรก 2566 ได้แล้ว 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% แต่ใน “ส่วนผู้ถือหุ้น” ยังคงติดลบ 56,253 ล้านบาท

ส่วน “ผลการดำเนินงาน” ของ บมจ.การบินไทย และบริษัทย่อย เฉพาะไตรมาส 2 ปี 2566 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2565 มี “กำไรจากการดำเนินงาน” 8,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 760% มี “กำไรสุทธิ” 2,273 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 171% สูงที่สุดในรอบ 20 ปี เนื่องจากตามปกติจะเป็นช่วงนอกฤดูเดินทาง (low season) ที่ผ่านมาจะทำกำไรได้น้อยกว่านี้มาก และมี“รายได้รวม” 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% ส่วนผู้ถือหุ้น ติดลบ 56,253 ล้านบาท

นายชาย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานภาพรวมตลอดครึ่งปีแรก และเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2566 สะท้อนถึงแผนพัฒนารายได้สะสมทำได้ดีขึ้น เป็นสิ่งยืนยันถึงศักยภาพของการบินไทยสามารถทำได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ส่งสัญญาณที่จะทำให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้นประมาณ 1 ไตรมาส ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 จากเดิมตั้งไว้ไตรมาส 4 ปี 2567 โดยได้ขับเคลื่อนดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมเกือบทุกด้าน 5 เรื่องหลัก ประกอบด้วย

เรื่องที่ 1 “การบริหารความเสี่ยง” ทั้งการเงินและการบริหารจัดการน้ำมันเครื่องบินตามวงเงินที่ธนาคารอนุมัติในการซื้อขาย (credit line) ในช่วงยังต้องอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการจึงจะต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันสูง ดีที่สุดคือการบินไทยต้องเร่งทำให้สถานะทางการเงินแข็งแรงมีรายได้สูงขึ้น ส่วนตอนนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนปรับขึ้นลงก็มีผลกับทุกสายการบินเหมือนกันหมดแต่ตอนนี้ยังไม่กระทบการบินไทยมากนัก

เรื่องที่ 2 การบริหาร “3 ฝูงบินใหม่” ตามแผนได้เช่าดำเนินการเครื่องบิน 3 แบบ ได้แก่ แอร์บัส A350 จำนวน 11 ลำA321-Neo จำนวน 12 ลำ จะรับเข้าฝูงครบปี 2569 และ โบอิ้ง B787-9 อีก 1 ลำ ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีปริมาณการผลิตที่นั่งเพิ่มขึ้น 30% ผนวกเข้ากับการนำเครื่องบินของไทยสมายล์ซึ่งกำลังจะครบสัญญาเช่าจากการบินไทยมาใช้งานอีก 10 ลำ

เรื่องที่ 3 แผนควบรวมไทยสมายล์ โอนมารวมเป็นหนึ่งเดียวในการบินไทย ขณะนี้ได้โอนฝูงบินมาแล้ว 4 ลำ ยังเหลืออีก 16 ลำ ภารกิจนี้การบินไทยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกระทรวงคมนาคม ทำให้ทุกอย่างราบรื่นเป็นไปตามแผนงานทั้งการโอนฝูงบิน ลูกเรือ และฝูงบิน

ตามแผนจะทยอย “โอนจุดบินไทยสมายล์” ระยะแรกจะเน้นเส้นทางบินในกลุ่มประเทส CLMV ร่างกุ้ง เมียนมากัมพูชา สสป.ลาว การบินไทยจะบินเองวันละ 2 เที่ยว/เมือง หรือ Double Daily เพื่อรองรับผู้โดยสารตลาดยุโรปซึ่งต้องการจะบินต่อไปยังจุดหมายปลายทาง จากนั้นจะเข้าไปบินโดเมสติกทั้งหมดช่วงฤดูเดินทางปลายปี 2566 อีก 10 เส้นทาง ด้วยการนำเครื่องบินที่เหลือในฝูงบินแอร์บัส A320 มาใช้ประโยชน์เปิดบินสู่เมืองรองในตลาด อินเดียสาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้งานเครื่องลำตัวแคบเกิดประโยชน์ทางรายได้กับการบินไทยให้ได้มากที่สุดต่อไป

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ประเมินรายได้การขายตั๋วโดยสารจากยอดจองที่นั่งเที่ยวบินของผู้โดยสารที่เลือกใช้การบินไทยช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ยังคงต้องจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจในสหภาพยุโรป นักเดินทางทั่วโลกมาลงกรุงเทพฯ บินต่อไปยังจังหวัดอื่น ๆ ดังนั้นจึงได้เตรียมความพร้อมรับฤดูเดินทาง (high season) ปลายปี 2566 เพื่อผลักดันตลาดการขายตั๋วโดยสารเติบโตต่อไปด้วยวิธีบูรณาการต่อเนื่องกับการบริหารความเสี่ยง บริหารจัดการฝูงบิน เพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ

เรื่องที่ 4 การวางแผนตลาดการขายของการบินไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 อุตสาหกรรมการบินจะได้แรงบวกจาก “ยุโรป” ซึ่งมีส่วนแบ่งรายได้จากการขายตั๋วจากผู้โดยสารตลาดบินระยะไกลข้ามทวีป (longhaul) 37 % ตามมาด้วย“เอเชีย” พื้นที่ทำรายได้หลัก ได้แก่ เอเชียเหนือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีส่วนแบ่ง 33 % เอเชียใต้ อินเดียบังกลาเทศ ปากีสถาน มีส่วนแบ่ง 10 % รวมไปถึงอาเซียนหรือทางตอนใต้ของไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ 7 % เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามแผนจะรุกขยายเที่ยวสู่โอเชเนีย ประเทศออสเตรเลีย เตรียมเปิดบินทุกเมืองด้วยความถี่เที่ยวบินวันละ 1 เที่ยว/เมือง

แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2566 วางกลยุทธ์เพิ่มความถี่และทำโปรโมชั่นร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พันธมิตรบัตรเครดิต ในญี่ปุ่น เกาหลี พอเข้าสู่โลว์ซีซันจะเร่งโปรโมทคนไทยเที่ยวต่างประเทศต้อนรับปิดเทอมนิยมไปญี่ปุ่น เกาหลี จากนั้นช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป วางแผน “ขายตั๋วโดยสารบินล่วงหน้า” อย่างยุโรป ออสเตรเลีย เพราะหลังปรับโครงสร้างใหม่เป็นหนึ่งเดียวกันรวมการบินไทยกับไทยสมายล์เข้าด้วยกันแล้ว ก็ทำให้การขายตั๋วเส้นทางบินเชื่อมต่อภายในประเทศ กับจุดหมายปลายทางประเทศแถบอินโดจีน และอาเซียน ทำยอดขายไหลเข้าสู่การบินไทยเชิงบวกแน่นอน

เรื่องที่ 5 แผน “เพิ่มเส้นทางบินใหม่” ช่วงที่ผ่านมาการบินไทยพยายามมองโอกาสจากตลาด “สาธารณรัฐประชาชนจีน” แต่จนถึงขณะนี้การเติบโตยังไม่ได้เป็นตามเป้าหมายเปิดเที่ยวบินได้ประมาณ 40-50 % ไปยังเมืองใหญ่ ปักกิ่งกวางโจว วันละ 1 เที่ยว/เมือง หรือ daily flight แต่จะยังไม่บินเพิ่มเป็น วันละ 2 เที่ยว/เมือง Double Daily เพราะจะต้องรอดูสถานการณ์ปี 2567 อีกครั้ง ขณะที่เส้นทางบินสู่ “ญี่ปุ่น” การบินไทยเพิ่งจะเพิ่มเที่ยวบินตรงสู่ฮอกไกโด เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ก็จะเปิดบินในลักษณะเดียวกัน

ตั้งแต่กลางปี 2567 เป็นต้นไป การบินไทยเพิ่มเที่ยวสู่ตลาดยุโรปซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น มิลาน (อิตาลี) ออสโล (นอร์เวย์) โดยวางแผนนำเครื่องบินซึ่งเดิมวางแผนจะใช้ในตลาดจีนเปลี่ยนมาบินในเส้นทางยุโรปแทน และเมื่อสัปดาห์นี้หลังการบินไทยลงนามความร่วมมือกับเตอร์กีสแอร์ไลน์สแล้วยิ่งเพิ่มโอกาสเชื่อมโยงการขายตั๋วเมืองต่าง ๆระหว่าง ตลาดยุโรป ออสเตรเลีย และทั่วโลก เข้าออกเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นได้

ทั้งนี้ปี 2566 บมจ.การบินไทยมีเป้าหมายจะให้บริการผู้โดยสาร 9 ล้านคน เฉลี่ยเดือนละ 700,000 คน ขณะนี้มีสัญญาณเพิ่มขึ้นทุกเดือน หลังจากปรับฝูงบินในภาพรวมทั้งการนำเข้าเครื่องบินใหม่ แอร์บัส A350 รวม 16 ลำ การโอนเครื่องบินแอร์บัส A320 ของไทยสมายล์เข้าฝูงการบินไทย ก็จะสามารถเพิ่มที่นั่งพร้อมขายได้มากขึ้นทั้งเส้นทางบินในประเทศ และระหว่างประเทศ

นายชาย เอี่ยมศิริ กล่าวตอนท้ายว่า ในนามตัวแทน บมจ.การบินไทย ต้องขอบคุณลูกค้า เจ้าหนี้ พนักงานการบินไทยกว่า 10,000 คน ผู้บริหารแผน ผู้ทำแผนเริ่มต้นร่วมกันมาตั้งแต่แรก รวมทั้ง ภาครัฐ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง คณะกรรมการเจ้าหนี้ทำให้ทั้งสองฝั่งเข้าใจกันทำงานได้ราบรื่นมากขึ้น ต่อจากนี้เป็นต้นไปการบินไทยคงจะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าคนไทย เพราะการบินไทยคนไทยถือหุ้นเกินกว่า 80% และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ สิ่งที่พลาดพลั้งไปก็ขออภัยน้อมรับมาปรับปรุงสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าทุกคน

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen