

- ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดรอบ 13 เดือน
- สนค.ชี้เงินเฟ้อไทยเป็นขาลงหลังราคาน้ำมันต่ำกว่าปี 65
- แต่ทั้งปี 66 ยังยืนยันโตตามกรอบ 2.0-3.0%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.พ.66 ว่า เท่ากับ 108.05 เทียบกับม.ค.66 ลดลง 0.12% แต่เทียบกับเดือนก.พ.65 เพิ่มขึ้น 3.79% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนก.พ.ปี 65 อยู่ในระดับสูง ทำให้เงินเฟ้อไม่ขยายตัวมากนัก และส่วนดัชนีเงินเฉลี่ย 2 เดือน(ม.ค.-ก.พ.) ปี 66 เพิ่มขึ้น 4.40% เทียบช่วงเดียวกันของปี 65 สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ดัชนีอยู่ที่ 104.17 เพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.66 และเพิ่มขึ้น 1.93% เทียบเดือนก.พ.65 รวม 2 เดือนเพิ่มขึ้น 2.48%
ด้านนายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ว่า การเลือกตั้ง จะทำให้เกิดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก โดยสินค้าที่จะได้รับผลดี ในภาคการผลิต เช่น โรงพิมพ์แผ่นพับ ใบปลิว โปสเตอร์หาเสียง หรืออาจจะเป็นวัสดุก่อสร้าง พวกไม้ ที่ใช้ทำป้ายหาเสียง หรือถ้าเงินเข้าสะพัดเข้าสู่กลุ่มแรงงาน จะทำให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลดี ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มและคาดว่า ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในเดือนมี.ค.-เม.ย.66 ที่อยู่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดือนก.พ.66 ที่ครัวเรือนมีค่าใช้จ่าย 18,168 บาท
“การเลือกตั้ง จะมีผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นแน่นอน เพราะจะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก แต่คาดไม่ได้ว่า จะมีเงินเข้าสู่ระบบมากเพียงใด ตอนที่เราคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 66 ที่คาดขยายตัวในกรอบ 2-3% ได้รวมปัจจัยการเลือกตั้งไปแล้ว”
สำหรับเงินเฟ้อเดือนก.พ.66 ที่สูงขึ้น 3.79% เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวตามราคาสินค้าทั้งในหมวดอาหาร และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.74% ชะลอตัวจากเดือนม.ค.66 ที่สูงขึ้น 7.70% ตามการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของราคาอาหารสำเร็จรูป ผักและผลไม้ ข้าวสาร ไข่และผลิตภัณฑ์นมเครื่องประกอบอาหาร เป็นต้น ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 2.47% ชะลอลงจากเดือนม.ค.66 ที่สูงขึ้น 3.18% โดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน, ของใช้ส่วนตัว เช่นน้ำยาระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แต่ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม คาดว่า เงินเฟ้อเดือนมี.ค.66 จะชะลอตัวลงตามราคาสินค้าอาหารสดหลายรายการที่คาดจะลดลงต่อเนื่อง และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาประกอบกับ ฐานราคาเดือนมี.ค.65 ค่อนข้างสูง การส่งออกมีแนวโน้มลดลง และการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ค่าไฟฟ้าที่ยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับขึ้นในเดือนมี.ค.66 การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก
“เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ น่าจะเห็นชัดในช่วงกลางปีถึงปลายปี โดยเงินเฟ้อตั้งแต่เดือนต.ค.66 อาจใกล้ 0% หรืออาจจะติดลบก็ได้ ถ้าช่วงนั้น ราคาน้ำมันยังลดลง แต่ถ้าน้ำมันขึ้น เงินเฟ้อก็ไม่ลด ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี ขณะนี้ยังคงเป้าไว้ที่ 2-3% ค่ากลางที่ 2.5% แต่จะพิจารณาปรับสมมติฐานใหม่ หลังได้ตัวเลขไตรมาสแรกแล้ว เพราะขณะนี้ ทั้งราคาน้ำมันดิบดูไบ ค่าเงินบาท และอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงไปจากตอนคาดการณ์เดิมมากโดยแนวโน้มน่าจะลดลง หรือกรอบแคบขึ้น หรือปรับค่ากลางลดลง”