

- ลุยผนึกความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 คาดมีนักธุรกิจเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3 พันราย
- ระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย.66 ที่กรุงเทพฯ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดเงินสะพัดในงานกว่า 500 ล้านบาท
- หวังร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 ก.พ.66) นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน พร้อมคณะ จัดงานแถลงข่าวความสุดยิ่งใหญ่ เพื่อประกาศการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ที่กรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยการจัดงานในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ฯพณฯ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเข้าร่วมแถลงข่าว และสนับสนุนการจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกในครั้งนี้
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก และยังมีผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาของนักธุรกิจชาวจีน ในฐานะผู้จัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 นี้ หอการค้าไทย-จีน มีหน้าที่สร้างเวทีใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของนักธุรกิจชาวจีนทั่วโลกหลังยุคโควิด ร่วมกันค้นหาโอกาสใหม่ๆ ภายใต้วิกฤต และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือแบบพหุภาคีและหลากหลายรูปแบบของความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อเปิดยุคใหม่ในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ ในโลกในยุคใหม่

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานจิตวิญญาณของนักธุรกิจชาวจีน และมุ่งมั่นที่จะปลูกฝังนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่ในยุคใหม่ เพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาคุณภาพสูงของความทันสมัยสไตล์จีนและความเจริญรุ่งเรืองของชาวจีนในอนาคต และสร้างคุณูปการใหม่ให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
“ประเทศไทยเป็นประเทศศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นประเทศที่มีนักธุรกิจชาวจีนอาศัยมากที่สุด มีรากฐานอุตสาหกรรมและการค้าที่แข็งแกร่ง และโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ มีความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับจีนและโลกในด้านอุตสาหกรรม การพาณิชย์ การเกษตร เทคโนโลยีขั้นสูง พลังงาน การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมใหม่ๆ” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังส่งเสริมการเชื่อมโยงในเชิงลึกระหว่าง “ไทยแลนด์ 4.0″ ” เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC” และ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง -BRI” ของจีน รวมถึงการเชื่อมโยงโอกาสจากการพัฒนาอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า การพัฒนาเขตการค้าเสรีไห่หนาน ระเบียงเศรษฐกิจปักกิ่ง เทียนสิน เหอเป่ย และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงของจีน นอกจากนี้ จากความก้าวหน้าของ RCEP ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวเลือกลำดับแรกสำหรับการลงทุนของนักลงทุนชาวจีน
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 นี้จะส่งผลดีอย่างมากกับประเทศไทย โดยเชื่อว่าจะมีนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมฯ ในครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ซึ่งแต่ละคนก็จะต้องมีผู้ติดตามมาด้วย อาทิคนในครอบครัว พนักงานในบริษัท ตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากรวมกันแล้วก็คาดว่าไม่ต่ำกว่า 4,000 คน แน่นอนการมาเยือนประเทศไทยของคนเหล่านี้ ก็จะใช้จ่ายในประเทศไทย สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ
“ประเมินไว้ว่าในช่วงการจัดการประชุมฯ 3 วันนี้ จะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 400-500 ล้านบาท อีกทั้งจะมีการต่อยอดในด้านการลงทุน เจรจาธุรกิจ เป็นเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจอีกหลายหมื่นล้านบาท” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในจำนวนนักธุรกิจชาวจีนที่จะเข้ามาร่วมประชุมฯ กันในครั้งนี้ จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจจีนจากจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ ต่างมีความต้องการออกเดินทางเพื่อแสวงหาแหล่งลงทุนในต่างประเทศอย่างมากและประเทศไทยก็ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของนักธุรกิจกลุ่มนี้ เนื่องจากไทยมีข้อกฎหมาย และเงื่อนไขการลงทุนที่ค่อนข้างผ่อนปรนทำให้มีความน่าสนใจในการลงทุน
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตนได้รับการติดต่อจากนักธุรกิจคณะต่างๆ มามากมายเพื่อขอมาหารือ พร้อมกับสอบถาม และศึกษากฎระเบียบข้อกฎหมายในการลงทุนในไทย โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ โรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ซึ่งจุดนี้ก็มีผู้ประกอบีนหลายเจ้าสนใจที่จะมาลงทุน บวกกับปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากประเทศจีน ก็เข้ามาจัดจำหน่ายในไทยหลากหลายแบรนด์มากแล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม จากนี้ภาครัฐคงต่องหันมาให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานมีฝีมือระดับสูงจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในส่วนที่ประเทศไทยยังคงขาดแคลน รวมถึงพัฒนาฝีมือแรงงานไทยให้มีศักยภาพควบคู่ไปด้วยเพื่อไม่ให้แผนการขยายการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้รับผลกระทบ เนื่องด้วยประเทศไทยก็สามารถเป็นฮับในภูมิภาคนี้ได้ในการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องด้วย เวทีความร่วมมือดังกล่าว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนที่แน่นแฟ้น
“กระทรวงพาณิชย์มีความยินดีที่จะสนับสนุนและผลักดันให้เกิดความร่วมมือ และผลลัพธ์ที่ดีต่อทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่และเชื่อว่าทุกภาคส่วนในประเทศไทย ก็พร้อมที่จะร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ ในการสร้างมิติใหม่ของ จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมรอบด้าน” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้มีโอกาสร่วมสร้างความสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีนตลอดทั้งปี 2565 ซึ่งจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมถึง 3.69 ล้านล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น1.53% เมื่อเทียบกับปี 2564 และคิดเป็นสัดส่วน 17.9% ของการมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความตกลงทางการค้าที่ทันสมัยเชื่อมกับจีนในทุกระดับทั้งการยกระดับ เอฟทีเอ อาเซียน-จีน/ การบังคับใช้ความตกลง RCEP/ ไปจนถึงความตกลงระดับมณฑลและเมืองรองต่างๆ หรือ “mini FTA” ซึ่งปัจจุบันได้ลงนามทั้งสิ้น จำนวน 7 ฉบับ สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น มีตั้งแต่มณฑลไห่หนาน มณฑลกานซู่ และมีกำหนดจะลงนามกับเมืองเซินเจิ้นในวันที่ 1 มีนาคม ที่จะถึงนี้ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์มี ข้อตกลงความร่วมมือกับ ยูนนานที่ได้เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญในการเร่งรัดและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าของทั้งไทยและจีนให้เติบโตยิ่งขึ้นไป
ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพและความเป็นปึกแผ่นของสมาชิกของหอการค้าไทย-จีน จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันให้การจัดงานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงได้อย่างที่ตั้งใจไว้ และขอให้การจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก หรือ WCEC ครั้งที่16 กลายเป็นเวทีแสดงศักยภาพความสามารถของประเทศในระดับสากล พร้อมต้อนรับนักธุรกิจชาวจีนโลก และสร้างความประทับใจในฐานะเจ้าภาพการจัดงานสืบไป

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ซึ่งจะมีนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมและมีครอบครัวหรือผู้ติดตามร่วมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการกระตุ้มเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ และยังมุ่งหวังให้เกิดการท่องเที่ยวภายในย่านต่างๆ อีกด้วย
“นับเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้มาเยือนและพัฒนาสู้การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน กรุงเทพมหานครยินดีให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้า ต่อไป” นายชัชชาติ กล่าว
ด้านนายบุญยงค์ ยงเจริญรัฐ รองประธานหอการค้าไทย-จีน และประธานคณะกรรมการจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 กล่าวว่า ความเป็นมาของ “เวทีประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก หรือ WCEC” ก่อตั้งขึ้นโดย หอการค้าและอุตสาหกรรมจีนสิงคโปร์ หอการค้าจีนฮ่องกง และ หอการค้าไทย-จีน และจัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1991 และจัดประชุมทุกๆ 2 ปี การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 15 เป็นครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 2019 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ทำให้การจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก เว้นห่าง เป็นเวลาถึง 4 ปี

ทั้งนี้ สำหรับการจัดประชุม WCEC ครั้งที่ 16 นี้ กำหนดที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะจัดเป็นกิจกรรมแรกของ WCEC ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หอการค้าไทย-จีน ได้ออกหนังสือเชิญไปยังองค์กรธุรกิจที่สำคัญๆในโลก (เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซียอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ลาว กัมพูชา เมียนมา มาเก๊า จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐฯ บราซิล ดูไบ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เยอรมนี อังกฤษ เป็นต้น)
รวมถึงกลุ่มธุรกิจจีนรายใหญ่ และองค์กรภาคธุรกิจไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดประชุม WCEC ดังกล่าว จะมีนักธุรกิจชาวจีน และ นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล กว่า 2,000 คน และคาดว่าจะมีผู้ติดตามรวมๆ 4,000 คน ร่วมเดินทางเยือนประเทศไทย จะมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย สำหรับนักธุรกิจจีนและนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยในประเทศไทย ประมาณ 1,000 คน จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม จากการรวมนักธุรกิจชาวจีนทั่วโลกเข้าด้วยกันและส่งเสริมการพัฒนาของนักธุรกิจชาวจีน หอการค้าไทย-จีน ยังต้องการให้นักธุรกิจจีนทั่วโลกรู้จักประเทศไทยอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และบันทึกบทใหม่สำหรับความร่วมมือแบบวินวิน (win-win) เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจไทยและเจริญก้าวหน้าของกิจการของนักธุรกิจจีน