CAAT ยัน 2 แนวทางต่อไลเซ่นนักบินไทยกว่าหมื่นคนปี’66 ยึดคอร์สฝึกตามกฎสากลโลก แนะกัดฟันสู้ค่าใช้จ่ายสูง



  • กพท./CAAT ย้ำปี’ 66 เดินหน้าใช้ 2 แนวทาง “ต่อไลเซ่นอาชีพนักบินพาณิชย์ในไทย” มีจำนวนนักบินหมุนเวียนกว่า10,000 คน
  • ต้องเข้าคอร์สฝึกทักษะตามกฎสากลเดียวกันทั่วโลก ตอนนี้ช่วยได้แค่ผ่อนผันให้เข้าซิมูเลเตอร์เครื่องขนาดเล็กได้ ก่อนบินพาณิชย์จริงต้องฝึกกับเครื่องขนาดใหญ่
  • แนะยอมรับสภาพ “ค่าใช้จ่ายการฝึกสูง” ท่ามกลางความท้าทายยังไม่มีรายได้อู้ฟู่เหมือนเก่า

นายกลศ เสนารักษ์ ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานผู้ประจำหน้าที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท./CAAT) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางองค์กรในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการบินของประเทศไทย ได้พยายามยกระดับมาตรฐานอาชีพนักบินพาณิชย์ เฮลิคอปเตอร์ และนักบินเครื่องบินส่วนตัว (Private Jet) ให้สอดคล้องกับตลาดปัจจุบันกำลังต้องการนักบินเพื่อกลับสู่อาชีพหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย บรรดาสายการบินต่าง ๆ ทยอยกลับมาเปิดบริการเดินทางทางอากาศและการท่องเที่ยวทั้งของไทยและนานาชาติทั่วโลกมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญดีขึ้นตามลำดับ

ขณะนี้สิ่งที่ CAAT สามารถทำได้คือต้องปฏิบัติตามกฎขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กรณีการออกใบอนุญาตหรือไลเซ่นนักบินพาณิชย์และนักบินแต่ละประเภทตามกฎสากล ถึงแม้ในตลาดการบินจะมีความต้องการสูง ในเมืองไทยมีจำนวนนักบินหมุนเวียนในอาชีพอยู่กว่า 10,000 คน ทว่าสิ่งที่นักบินทุกคนกำลังต้องการต่อไล่เซ่นทาง กพท./CAAT ผ่อนผันมากที่สุดแล้ว 2 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 นักบินที่เคยมีใบอนุญาตหากจะต่อไลเซ่นการบินจะต้องเข้าซิมูเลเตอร์กับอากาศยานขนาดเล็กได้ ซึ่งตอนนี้มีโรงเรียนการบินหัวหินพร้อมรองรับ ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งตามเกณฑ์คนละเป็นหลักหมื่นบาทก็ตาม

แนวทางที่ 2 เมื่อต้องการได้ไลเซ่นขับเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่นักบินจะกลับมาเข้าสู่อาชีพก็มีความจำเป็นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอาจเป็นหลักแสนบาทในการเข้าฝึกกับเครื่องซิมูเลเตอร์เครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ตามประเภทของฝูงบินที่จะทำงาน เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยตามเกณฑ์สากล เนื่องจากการขนส่งทางอากาศเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยจะต้องสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยอย่างสูงสุดอีกอาชีพหนึ่งด้วย

นายกลศกล่าวว่า ขณะนี้ CAAT เดินหน้าทำโครงการความร่วมมือการสร้างมาตรฐานอาชีพนักบินร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน 2 ประเทศ คือ ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ และไทยกับเวียดนาม และจะทยอยความร่วมมือดังกล่าวกับอีกหลายประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องบังคับใช้กฎเกณฑ์มาตรฐานอาชีพนักบินอย่างเท่าเทียมกับนานาชาติทุกประเทศเพื่อจะได้นำไลเซ่นอาชีพนักบินที่ได้รับไปสมัครงานกับสายการบินนานาชาติประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย

อีกทั้ง กพท./CAAT เข้าใจถึงความเดือดร้อนของนักบินพาณิชย์ซึ่งต้องการจะกลับมาเข้าสู่อาชีพด้วยการยื่นขอต่อไลเซ่น/ใบอนุญาตปฏิบัติการบิน อาจจะต้องเผชิญกับต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงทั้งที่ยังไม่มีรายได้ ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาทักษะกลับมาใหม่อีกครั้งเพื่อเข้าสู่อาชีพดังเดิม แต่ก็ยากจะหลีกเลี่ยงได้เรื่องที่จะต้องเข้าคอร์สฝึกปฏิบัติหน้าที่กับเครื่องบินขนาดเล็ก และเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะก่อนได้รับอนุมัติต่อไลเซ่นใหม่อีกครั้งทางองค์กรเองก็ยึดระเบียบตามมาตรฐานสากลเดียวกันทั่วโลก

ทั้งนี้ ตามระเบียบของ กพท./CAAT มีประเด็นสำคัญ 3 กรณี ประกอบด้วย

กรณี 1 ใบอนุญาตนักบินหมดอายุไปแล้วมากกว่า 4 ปี ผู้ขอต่ออายุจะต้องรับเข้าการทดสอบภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติใหม่ และให้ยื่นคำขอเช่นเดียวกับผู้ประจำหน้าที่ครั้งแรก

กรณีที่ 2 ผู้ที่จะขอต่อไลเซ่นอาชีพนักบินกำหนดให้ดำเนินการล่วงหน้าก่อน 60 วัน ก่อนวันที่ใบอนุญาตดังกล่าวจะหมดอายุ ได้พร้อมหลักฐานผ่านระบบ EMPIC ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.caat.or.th โดยจะต้องนำส่งเอกสารอย่างสมบูรณ์ตามที่ระบุ จากนั้นทางหน่วยงานจึงจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 4 วันทำการ กรณีผู้ขอต่ออายุไลเซ่นส่งเอกสารไม่ครบถ้วนภายใน 7-30 วัน นับจากที่ กพท./CAAT แจ้งขอเอกสารเพิ่มเติม จะต้องยื่นขอต่อใบอนุญาตใหม่อีกครั้ง

กรณีที่ 3 ตามกฎกระทรวง ได้กำหนดค่าธรรมเนียมตามประเภท นักบินส่วนบุคคล (PPL) นักบินพาณิชย์ตรี (CPL) และนักบินพาณิชย์เอก

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen