ททท.ลั่นดันท่องเที่ยวไทยสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบปี’66 งัด NFT โมเดลนำร่องขาย 5 จังหวัด ฮ็อตรุก 6 เทรนด์ใหญ่



  • ททท.เปิดแผนปี’66 ดันท่องเที่ยวสู่ยุคดิจิทัล รับมือตลาดโตก้าวกระโดดเที่ยวไทย 200 ล้านคน ต่างชาติ 20-25 ล้านคน
  • โหมทำ 3 เรื่อง “Literency-Travel Tech-Investment” ปูพรมโปรเจกต์ “NFT” 5 จังหวัดฮ็อต
  • “กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-เชียงใหม่-ขอนแก่น-ระยอง” ปลุกตลาดรุ่นใหม่ไล่เก็บแต้มแลกสารพัดสิทธิ์ ส่วนลดโรงแรม แพกเกจทัวร์ นำ “ผลวิจัย” หนุน 3 เพิ่ม “รายได้/ความถี่/อัตราเข้าพัก”
  • เข้าถึงคนไทยและต่างชาติ 6 เทรนด์ “digital nomad-Workation-SeniorActive-Solo Travel-Wellness-Travel Tech”

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า เตรียมของขวัญยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเข้าสู่ยุค “ดิจิทัล” เต็มรูปแบบทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 digital Literacy ให้ผู้ประกอบการเพิ่มทักษะการนำเครื่องมืออุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำความรู้ใหม่มาใช้ดำเนินธุรกิจ

เรื่องที่ 2 สร้าง Travel tech สนับสนุนธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งมีความพร้อมนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาแก้จุดอ่อนของอุตสาหกรรมเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว

เรื่องที่ 3 Digital Investment ทำให้เกิดการลงทุน และการระดมทุน Ventures digital ต่าง  ๆ เข้ามาร่วมเครือข่ายพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป

โดย ททท.กำลังเดินหน้าผลักดันโครงการนำร่อง (Pilot Project) เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เช่น เริ่มต้นเปิด โครงการที่ 1 “Best Deal เที่ยวไทย เพิ่มสิ่งใหม่ให้ชีวิต” ร่วมกับ LAZADA แพลตฟอร์มออนไลน์ขายสินค้าแถวหน้าเมืองไทย ซึ่งมีฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน จับมือกันสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวกว่า 100 ราย ได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเปิดช่องทางขายส่งท้ายปีผ่านแพลตฟอร์มร่วมโปรโมชั่นกว่า 70 % แล้วยังสามารถเชื่อมโยงต่อยอดขายสินค้าจากแพกเกจท่องเที่ยว ขยายไปแฟชั่นชุดและอุปกรณ์ดำน้ำ สร้างการช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อนั่นเอง

โครงการที่ 2 “NFT Amazing Thailand” นำ NFT มาประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น พุ่งเป้าตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มเกมเมอร์ นักสะสมทรัพย์สินดิจิทัล โดยจะเปลี่ยนจากรูปแบบ “Play to Earn” เล่นเพื่อสร้างรายได้เปลี่ยนมาเป็น “Travel to Earn” ท่องเที่ยวแล้วสามารถสะสมสินทรัพย์ต่าง ได้ด้วย ททท.จะร่วมกับ Crypto Currency Connect นำคาแร็กเตอร์ “น้องสุขใจ” มาสค็อตท่องเที่ยวของ ททท.มาประยุกต์ใช้ ประสานกับแคแรกเตอร์อัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด

วางกลยุทธ์ “จังหวัดท่องเที่ยวนำร่อง” ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ระยอง และอื่น ๆ เพื่อสร้างเป็น NFT กระตุ้นให้คนเดินทางท่องเที่ยว สร้างแรงจูงใจทั้ง เก็บสะสม NFT จากการเข้าไปเที่ยวตามจังหวัดเป้าหมาย แล้วยังได้สิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเป็น “ส่วนลด” จากการท่องเที่ยวต่าง ๆ จากหลากหลาย

ขณะนี้เริ่มเปิดตัวแคมเปญ “NFT BUAKAW 1 x Amazing Thailand” ททท.ร่วมกับ “บัวขา บัญชาเมฆ” นักมวยชื่อดัง ทำงานร่วมกันหลายมิตินำจุดแข็งเรื่อง Soft Power ศิลปะมวยไทย ทางบัวขาวได้ปล่อย NFT ออกสู่ตลาดททท.จึงร่วมต่อยอดภาพศิลปะมวยไทยชุดดังกล่าว แล้วให้นักท่องเที่ยวมารับโค้ดเป็น “ส่วนลดพิเศษน้ำยารักษาภาพศิลปะ” กลายเป็นคอลเลคชั่นภาพชุดที่มีคุณค่า ทาง ททท.ได้สนับสนุนให้ NFT แคมเปญนี้ 2,000 คน

พร้อมทั้งเชิญชวนเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวเข้ามาร่วมมอบส่วนลดแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มนักสะสม NFT ชุดนี้ด้วย โดยมีโรงแรมต่าง ๆ เข้าร่วมมากมายทั้ง ระติล้านนาเชียงใหม่ เซนทาราสมุย ภูเก็ต ป่าตอง  และอีกหลายโรงแรมและรีสอร์ตสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้น เป็นโครงการที่จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ทางการตลาดได้จริง

นายนิธี กล่าวว่า ททท.เตรียมแผนใช้ดิจิทัลเสริมทัพการตลาดรับมือปี 2566 ตามท่องเที่ยวทั้งในประเทศซึ่งจะมีกว่า200 ล้านคน และต่างประเทศอีก 20-25 ล้านคน เติบโตก้าวกระโดดจากปี 2565 การนำดิจิทัลมาใช้ทั้งส่งเสริมสนับสนุนการตลาด แล้วยังต้องอบรมภาคธุรกิจ รวมทั้งคิดวางแผนรับมือกับ Next Normal คาดจะมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทย 15-20 % กระโดดเข้าร่วมทัพดิจิทัล เพราะอนาคตต่อไปยังต้องร่วมเทรนด์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ การท่องเที่ยวใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับ BCG เศรษฐกิจ “ชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว” ซึ่งจะต้องทำไปพร้อม ๆ กัน

ถึงแม้ดิจิทัลยังอาจจะมีจุดอ่อนหลายเรื่องเป็นอุปสรรคทำให้ผู้ใช้ดิจิทัลยังไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ทว่าททท.พยายามทดลองนำ Meta เข้ามาใช้งาน หรือ “หัวเหว่ย” มาประยุกต์ใช้ โดย ททท.จะเพิ่มช่องทางการเข้าถึงชูจุดเด่นของเทคโนโลยี AR-Augmented reality การรวมสภาพแวดล้อมจริงกับวัตถุเสมือนเข้าด้วยกันในเวลาเดียวกัน และ VR-Virtual Reality เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง

ทั้งสองเทคโนโลยีจะช่วยเติมเต็มนักท่องเที่ยวได้รู้ข้อมูลภาพเสมือนจริงก่อนเดินทางเข้าไป โดยเฉพาะ “แหล่งท่องเที่ยวชุมชน” ทดลองทำที่ “ตลาดน้อย” กรุงเทพฯ ได้นำภาพเสมือนจริง บอกเส้นทางกับจุดแวะท่องเที่ยวไว้ให้เห็นภาพเสมือนจริง พร้อมกับมีแผนที่บอกทาง นำไปสู่การใช้จองร้านอาหาร พร้อมรับส่วนลดพิเศษ หรือการทำเวิร์คช้อปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ หรือบริการโลจิสติกส์ เรียกรถไปตามสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย

โดยสรุป ททท.กำลังเดินหน้านำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพรองรับตลาดนักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด 1.กระตุ้นนักท่องเที่ยวใช้อุปกรณ์เข้าถึงทุกบริการการท่องเที่ยว เมื่อเทคโนโลยี 5G เข้ามาก็จะใช้กล้องมือถือไฮเทค เห็นภาพสถานที่ท่องเที่ยว ทิวทัศน์ สภาพอากาศ 2.จองโปรโมชั่น เก็บคะแนนรับส่วนลดราคาพิเศษ สะสมคูปอง/โวเชอร์ ไว้ใช้ตามสถานที่พักและแหล่งท่องเที่ยว  นอกเหนือจากการขายบน แพลตฟอร์มออนไลน์ การทำโครงการ NFT ซึ่งทำคู่ขนานกันไปด้วย

ขณะเดียวกัน ททท.ได้นำ “งานวิจัยและพัฒนา” เข้ามาประยุกต์ใช้ในปี 2566 ด้วย เพื่อตอบโจทย์ “3 เพิ่ม” คือ 1.เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 2.เพิ่มรายได้/การใช้จ่ายต่อคนต่อทริป และ 3.เพิ่มอัตราเข้าพักเฉลี่ย/OR-Occupacy Rate ได้ถึง 6 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

ตามโครงสร้างปัจจุบันมี “กลุ่มคนรุ่นใหม่” 70-80 % สนใจดิจิทัลซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายหลัก ปี 2566 คือ กลุ่มที่ 1 “digital Nomad” ต่างชาติทั่วโลกเลือไทยพักพิงเป็นสถานที่ทำงานผ่านระบบดิจิทัล กลุ่มที่ 2 “Workation/Work from anywhere” เทรนด์ทำงานทุกสถานที่ได้เที่ยวด้วย  

ต่อเนื่องถึงการนำ Event Marketing หรือการบริหารจัดการ การวางแผน และสร้างสรรอีเวนต์ เข้ามาขับเคลื่อนตลาดเติบโตได้อีกจาก กลุ่มที่ 3 Solo Travel สตรีเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว กลุ่มที่ 4 Senior Active ผู้สูงวัยที่ยังกระตือรือร้นออกเดินทางท่องเที่ยว

กลุ่มที่ 5 กลุ่ม Wellness เดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพองค์รวม กลุ่มที่ 6 กลุ่ม Travel Tech โดยมี Start up จำนวนมากในเมืองไทยหันมาต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยว เพราะไทยมีรายได้จากท่องเที่ยวก่อนวิกฤตโควิดทำได้ถึงปีละ 3 ล้านล้นบาท

นายนิธี ย้ำว่า ททท.จะเร่งผลักดันเพิ่มจำนวน Travel Tech ท่องเที่ยวมากขึ้น โดยจะจับมือกับค่ายใหญ่ อย่าง TRUE ,AIS หรือ Air Asia ซึ่งเริ่มมีการลงทุนในเชิง Venture Capital มากขึ้น ผลักดัน Travel Techc เกิดใหม่ให้ได้กว่า100 ราย แล้วทำให้ 1 ในจำนวนนี้มี Startup ระดับซีรีย์ A, B  เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ผันตัวกลายเป็น Unicorn ได้

สำหรับ “นักท่องเที่ยวในประเทศ” ททท.จะออกแบบการเดินทางท่องเที่ยวด้วยดิจิทัลให้เหมาะสมกับสนใจตลาด เช่นคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่ผู้สูงวัย สามารถกระตุ้นการใช้ออนไลน์เพื่อการท่องเที่ยวได้ เมื่อสร้างเป็นกระแสได้แล้วก็จะอัพเดทเทรนด์สู่ดิจิทัลท่องเที่ยวเติบโตได้ต่อไป

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen