ปีใหม่สุดคึกเงินสะพัดทะลุ 1 แสนล้านบาท ในรอบ 3 ปี



  • อัตราขยายตัว 20.1% สูงสุดในรอบ 17 ปีนับจากปี 50
  • ม.หอการค้าไทยชี้ประชาชนแห่เฉลิมฉลองปิดฉากโควิดในไทย
  • ของขวัญจากรัฐบาลที่อยากได้มากที่สุดคือ ปราบทุจริต

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,345 ตัวอย่างทั่วประเทศ วันที่ 9-16 ธ.ค.65 ว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 66 ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่มากถึง 90.8% ตอบบรรยากาศคึกคักพอๆ กับปีที่แล้วถึงคึกคักมากกว่าโดยคาดจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 103,039 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% จากปี 65 นับเป็นมูลค่าที่เกิน 100,000 ล้านบาทในรอบ 3 ปี หรือสูงสุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 64  แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ที่มียอดใช้จ่าย 135,279 ล้านบาทในปี62 และ 137,809 ล้านบาทในปี 63 ส่วนอัตราการขยายตัวที่ 20.1% สูงสุดในรอบ 17 ปีนับจากเริ่มมสำรวจปี 50 

สำหรับยอดใช้จ่ายดังกล่าว แบ่งเป็น เลี้ยงสังสรรค์ 11,732.54 ล้านบาท ทำบุญ 8,266.84 ล้านบาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 18,943.80 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทน 2,096.28 ล้านบาท ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 1,562.20 ล้านบาทท่องเที่ยวในประเทศ 57,491.80 ล้านบาท และท่องเที่ยวต่างประเทศ 2,945.66 ล้านบาท

“จากผลสำรวจ โควิดไม่มีผลกระทบแล้ว เพราะผู้ตอบมากถึง 80.4% บอกว่าไม่มีผลกระทบต่อการใช้จ่าย  มีเพียง จึงเห็นภาพของการออกนอกพื้นที่ ท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ และกลับบ้าน ส่งผลให้มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาจากปีก่อน โดยการใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 10,262 ล้านบาท จากปี 65 อยู่ที่ 5,445.28 ล้านบาทและเที่ยวต่างประเทศ 27,168.75 ล้านบาท เพิ่มจาก 21,508.32 ล้านบาท”

นอกจากนี้ เมื่อถามว่า ภาวะเศรษฐกิจในจจุบัน และปัญหาหนี้สิน มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายช่วงปีใหม่มากน้อยเพียงใด ผู้ตอบที่ตอบมีผลกระทบ และไม่มี อยู่ในสัดส่วนต่างกันไม่มากนัก โดยด้านภาวะเศรษฐกิจ ผู้ตอบ 54.4% ตอบมีผล อีก 45.6% ตอบไม่มีผล ส่วนหนี้สิน ผู้ตอบ 55.6% ตอบมีผล และอีก 44.4% ตอบไม่มีผล สำหรับแหล่งที่มาของเงินใช้จ่าย ส่วนใหญ่มาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ ตามด้วยเงินออม, เงินช่วยเหลือจากรัฐ เช่น เที่ยวด้วยกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โบนัส/รายได้พิเศษ และอื่นๆ เช่น ถูกรางวัล เสี่ยงโชค

ขณะที่ของขวัญที่ต้องการจากรัฐมากที่สุด คือ ปฏิรูปภาครัฐ ปราบทุจริต รัฐบาลควรโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่ายในประเทศ, ลดภาระค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมั้น, เพิ่มการจ้างงานค่าแรง, ลดหย่อนภาษี, กระตุ้นท่องเที่ยว, ส่งเสริมลงทุน. เงินอุดหนุนการศึกษาจนจบระดับ ปวส.

“สิ่งที่อยากได้มากอันดับ 1 คือ การปราบทุจริต แสดงให้เห็นว่า ประชาชน ได้ยิน ได้เห็น หรือสัมผัสได้ถึงการทุจริต ดังนั้น ปี 66 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะกลับมาสำรวจสถานการณ์คอรัปชันในประเทศอีกครั้ง หลังจากหยุดไปนานหลายปี เพราะเป็นสิ่งที่สังคมต้องการเห็น ส่วนการให้คะแนนการแก้ไขของรัฐบาลรอบปีที่ผ่านมา ภาพรวมอยู่ที่ 6.2 คะแนน จากเต็ม 10”

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า บรรยากาศปีใหม่ปี 66 คึกคัก และสดใสทั่วไทย การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 100,000 ล้านบาททในรอบ 3 ปี แสดงให้เห็นว่า โควิดในประเทศ ปิดฉากลงแล้ว และคาดว่า เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 1 จะสดใสมากขึ้น จากผลของมาตรการช้อปดีมีคืน ที่ภาครัฐคาดจะมีคนใช้จ่าย 60,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกราว 4,000 ล้านบาท ที่น่าจะทำให้มีเงินสะพัดในภาคท่องเที่ยวอีก 10,000-20,000 ล้านบาท น่าจะทำให้ไตรมาส 1 ปี 66 มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท มีผลทำให้เศรษฐกิจโตได้อีก 0.7-1.0% มาอยู่ที่ขยายตัว 3.5% เป็นอย่างน้อย