ดาวโจนส์ปิดร่วงแรง 764 จุด เฟดดับฝัน “ซานต้า แรลลี่”



  • นักลงทุนเทขายหุ้น ทำดัชนีดิ่งแรง กังวลเฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
  • ตลาดเริ่มคาดหมายชัดเจน เศรษฐกิจสหรัฐ-เศรษฐกิจโลกเดินหน้าสู่ภาวะถดถอย
  • นักวิเคราะห์หวั่นปรากฎการณ์ “ซานต้า แรลลี่” ในปีนี้ ซานตาไม่มาตามนัด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 15 ธ.ค.ที่ 33,202.22 จุด ร่วงลง 764.13 จุด หรือ -2.25%, ดัชนีS&P500 ปิดที่ 3,895.75 จุด ลดลง 99.57 จุด หรือ -2.49% ส่วนดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส ปิดที่ 10,810.53 จุด ดิ่งลง 360.36 จุด หรือ -3.23%

นักลงทุนเทขายหุ้นทำกำไร และลดความเสี่ยงต่อเนื่อง 

โดยราคาหุ้นปรับลดลงในทุกกลุ่ม นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร โดยหุ้นอัลฟาเบท ดิ่งลง 4.43% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 3.19% หุ้นเมตา แพลทฟอร์มส์ ลดลง 4.47% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 8.63% หุ้นสแนป ดิ่งลง 8%

ทั้งนีเ แม้คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)จะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ4.25-4.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด  แต่ตลาดยังคงวิตกกังวลหลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณที่แข็งกร้าวว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลงอย่างยั่งยืน

โดยรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot นั้น เฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด(Terminal rate) สู่ระดับ 5.1% ภายในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมของตลาด และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ศรษฐกิจสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2550

ซิลเวีย จาบลอนสกี ซีอีโอและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัท Defiance ETFs กล่าวว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดกำลังเป็นอุปสรรคต่อการเกิดปรากฎการณ์ “ซานต้า แรลลี่” ในปีนี้ และถ้อยแถลงของนายพาวเวลส่งสัญญาณชัดเจนว่า เขาไม่มีแผนที่จะชะลอ หรือหันเหทิศทางจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

“เฟดกำลังปิดถนนขวางทางรถเลื่อนของซานต้า ด้วยการส่งสัญญาณว่าจะปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นและยาวนานขึ้น เราคาดว่าตลาดจะผันผวนและถูกกดดันเป็นเวลานานขึ้นจากนโยบายของเฟด “จาบลอนสกีกล่าว

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ “ซานต้า แรลลี่” มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่

ตลาดได้รับแรงกดดันมากขึ้นหลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ และส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ตัวเลขค้าปลีก และภาคการผลิตที่ลดลงส่งผลให้นักลงทุนกังวลภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯมากขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกดิ่งลง 0.6% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดในรอบ 11 เดือนขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าปรับตัวลงเพียง 0.1% หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนต.ค.

ขณะที่รายงานของเฟดระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐลดลง 0.2% ในเดือนพ.ย. หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนต.ค. โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมเป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค

อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 20,000 ราย สู่ระดับ 211,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 230,000 ราย