เปิดแนวคิดขึ้นดอกเบี้ย ผู้ว่าฯธปท. ชูต่อยอดดิจิทัล-green economy



  • ยืนยันการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. จะทำค่อยเป็นค่อยไป
  • เน้นดูตามสถานการณ์ไม่ให้กระทบประชาชนเกินไป
  • พร้อมเดินหน้าลดเอ็นพีแอลไม่ให้ขึ้นแรง ปรับระบบการเงินเช้าสู่ดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว
  • เร่งแก้หนี้ครัวเรือน ชี้ประเทศต้องการการลงทุนเพิ่มช่วยเศรษฐกิจไทยโตได้ยั่งยืน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” จัดโดยสถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16 ให้หัวข้อ “บทบาทนโยบายด้านการเงินในการกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย” ว่า นโยบายการเงินการคลังในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นตัวช่วยในการพยุงเศรษฐกิจ โดยในช่วงแรกทางภาครัฐใช้มาตรการแบบจัดเต็ม ซึ่งช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ทรุดตัวรุนแรง โดยในปี 63 ซึ่งเศรษฐกิจไทยติดลบประมาณ 6% หากไม่มีนโยบายการคลังช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายเข้ามาช่วยจะติดลบมากถึง 9% และในปี 64 ที่เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว 1.5% แต่หากไม่มีมาตรการการคลังจะติดลบ 3% ในขณะที่มาตรการทางการเงิน มีทั้งการพักหนี้โดยรวม ต่อมาเป็นพักหนี้เฉพาะกลุ่ม การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นระยะยาว และการเติมเงินผ่านสินเชื่อฟื้นฟู ช่วยให้ระบบการเงินทำงาน ยังมีการเติบโตของสินเชื่อ หนี้เสียไม่ได้สูงมาก

.ห่วงเงินเฟ้อสูง-ดูแลกลุ่มเปราะบาง

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โจทย์ขณะนี้คือ จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีจุดสะดุดจนเกินไปได้อย่างไร และจุดที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจสะดุด เรื่องแรกคือ เงินเฟ้อที่สูง และหากปล่อยให้สูงจนเกินไปจะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากขึ้น และหากยิ่งการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะต่อไปสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อมากก็จะการเป็นวงจรการเพิ่มเงินเฟ้อที่ไม่จบ ขณะที่โจทย์ที่ 2 คือ การดูแลสถานะ และหนี้สินของกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งช่วยให้ระบบธนาคารยังทำงานได้ปกติ เราไม่อยากเห็นการไม่ยอมปล่อยสินเชื่อใหม่ของแบงก์ และไม่อยากเห็นจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

.ขึ้นดอกเบี้ยไม่ใฟเกระทบคนจน

“ธปท.มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้น โดย กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้หลุดไปจนควบคุมไม่ได้  แต่จะดูแลการขึ้นดอกเบี้ย จะทำโดยไม่ให้กระทบประชาชนมากเกินไป โดยเราจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวม และการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนั้น เช่น หากบางช่วงจำเป็นต้องหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อนก็จะทำ แต่ถ้าช่วงไหนสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.25% ก็ทำได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน ภายใต้การปรับขึ้นดอกเบี้ยสิ่งที่ต้องทำคือต้องดูแลภาระหนี้สินของกลุ่มเปราะบาง ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว โครงการพักทรัพย์พักหนี้ การเติมเงินใหม่รวมทั้ง มาตรการต่างๆ ที่ใช้ช่วยเหลือลูกหนี้มาตลอดก็ยังทำต่อไป”

.เน้นลงทุนต่อยอดดิจิทัล-เศรษฐกิจสีเขียว

ผู้ว่าการธปท. ยังได้กล่าวต่อถึงทิศทางการก้าวต่อไป และการวางนโยบายในอนาคตของธปท. และของประเทศ โดยเรื่องแรกที่ ธปท.ได้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ การปรับระบบการเงินไทยเพื่อรองรับการไปสู่ระบบการเงินดิจิทัล ให้มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น รวมทั้งมีศุนย์ข้อมูลทางการเงินดิจิทัลมากขึ้นเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรรมทางการเงิน และที่สำคัญคือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลเพื่อให้คนเข้าถึงระบบการเงินได้มากขึ้นและเท่าเทียมมากขึ้น รวมทั้งการทดลองใช้เงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลาง

นอกจากนั้น อีกกระแสที่ต้องคำนึกถึงในขณะนี้คือ เรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมของไทยที่อยู่ในอันดับต้นๆของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และการรับมือกับทิศทางนโยบายที่เปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสีเขียวทั่วโลก โดยนโยบายจะให้ระบบการเงินไทยเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่น และทันการณ์ มีการวางพื้นฐานระบบข้อมูลและมาตรฐานกลางของธุรกิจสีเขียว เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อของระบบการเงินในอนาคตที่คำนึงถึงธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และสังคมมากขึ้น ขณะที่อีกปัญหาที่ต้องดูแลคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเป็นปัญหาที่อยู่กับเรามาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ในเร็ววัน แต่จะต้องมีความพยายามในการแก้ไขแบบยั่งยืน ทั้งหนี้เดิมตามมาตรการที่ธปท.ออกไปและให้ความรู้เพื่อการสร้างหนี้ใหม่ที่เหมาะสมมากขึ้น 

“ท้ายที่สุด อีกหนึ่งเหตุผลที่ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัว แต่ก็ไม่ได้กระโดดได้สูงอย่างคนอื่น เพราะเราไม่มีการลงทุนใหม่ที่มากพอ และหากมองในอนาคตการลงทุนในดิจิทัล และการไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างจริงจัง จะเป็นอีกโอกาสที่จะฟื้นการลงทุนของไทย และเป็นอีกหนทางให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว