

- เป็นนายกฯหญิงคนที่ 3 และนายกฯคนที่ 6 รอบ 4 ปี
- จับตาแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
- เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี และสูงสุดในกลุ่ม G10
นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษตามคาด หลังได้รับชัยชนะในการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ และจะครองตำแหน่งนี้ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนม.ค.68
สำหรับการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม เมื่อวันที่ 5ก.ย.65 นั้น นางทรัสส์ มีคะแนนนำนายริชิ ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษที่ 81,326 ต่อ 60,399 เสียงจากการลงคะแนนของสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษโดยอัตโนมัติ เนื่องจากพรรคครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ส่งผลให้นางทรัสส์กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ในรอบ 6 ปี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อังกฤษมีเรื่องท้าทายที่ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ที่ซิตี้กรุ๊ปออกรายงานเตือนว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษจะพุ่งทะลุ 18% ในเดือนม.ค.66 เพราะผลกระทบของราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น
ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ระบุว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยยาวนานกว่า 1 ปี โดยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 65 จนถึงสิ้นปี 66 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว นอกจากนี้ หลายฝ่ายกังวลต่อสถานะทางการคลังของอังกฤษ เนื่องจากนางทรัสส์มีนโยบายปรับลดอัตรา ภาษี รวมทั้งออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือน
ขณะที่ดอยซ์แบงก์ วาณิชธนกิจข้ามชาติของเยอรมนี ระบุว่า อังกฤษกำลังเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศ G10 และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ขณะเดียวกัน การขยายงบประมาณการคลังขนานใหญ่แบบไร้เป้าหมายทั้งที่ขาดแคลนเงินทุน ควบคู่ไปกับความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของธนาคารกลางอังกฤษ อาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงยิ่งขึ้นไปอีก
ก่อนหน้านี้ นางทรัสส์วิพากษ์วิจารณ์ BoE และนายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BoE ขณะเดินสายหาเสียงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวโทษ BoE ที่ปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และมีรายงานระบุว่า เธอกำลังพิจารณาทบทวนอำนาจหน้าที่ของ BoE