กสิกรฯ คาดสัปดาห์หน้ากรอบเงินบาท 35.20-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ยังต้องจับตาส่งออกไทย



  • เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า 35.75 บาทต่อดอลลาร์
  • หลังจีดีพีไทยไตรมาสสองออกมาต่ำกว่าตลาด
  • คาดขยายตัวเพียง 2.5%

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าทดสอบระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท้ายสัปดาห์ โดยเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า หลังตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 2/65 ของไทยขยายตัวเพียง 2.5% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ นอกจากนี้สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวอ่อนค่าลงตามค่าเงินหยวนท่ามกลางการคาดการณ์ว่า สัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนอาจทำให้ทางการจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม

ส่วนเงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นตามสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ หลังรายงานการประชุมเฟดและมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟด ตอกย้ำว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับลงมาอยู่ในระดับที่ควบคุม/ยอมรับได้ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงมากกว่าที่คาดด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 19 ส.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (11 ส.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 15-19 ส.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องอีก 24,208 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าตลาดพันธบัตรเพียง 410 ล้านบาท (แม้ซื้อสุทธิพันธบัตร 3,783 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 3,373 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (22-26 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.20-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole สถานการณ์สหรัฐฯ-จีน และตัวเลขการส่งออกเดือนก.ค. ของไทย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และตัวเลข PCE/Core PCE Price Indices เดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนส.ค. และจีดีพีไตรมาส 2/65 (ครั้งที่ 2) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน ผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซียและธนาคารกลางเกาหลีใต้ รวมถึงดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ