พาณิชย์สุดปลื้ม! ส่งออก ก.พ.65 พุ่ง 16.2%



  • ส่งออกรัสเซียอันดับ 1 ตามด้วยอาเซียน ฮ่องกง
  • เผย มี.ค.เป็นต้นไป พิษสงครามฟาดหางใส่แน่
  • ภาคเอกชนชี้ศึกยูเครน ทำห่วงโซ่ผลิต-ขนส่งเพี้ยน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่าเดือนก.พ.65 การส่งออกมีมูลค่า 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่ม 16.2% เมื่อเทียบเดือนก.พ.64 คิดเป็นเงินบาท770,819 ล้านบาท เพิ่ม 28.2% การนำเข้า 23,359.8 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 16.8% คิดเป็นเงินบาท 776,612 ล้านบาท28.7% เกินดุลการค้า 123.3 ล้านเหรียญฯ แต่คิดเป็นเงินบาทขาดดุล 5,793.2 ล้านบาท

ส่วนในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 65 การส่งออกมีมูลค่า  44,741.7 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 12.2% เทียบช่วงเดียวกันของปี 64 คิดเป็นเงินบาท 1.479 ล้านล้านบาท เพิ่ม 24.5% การนำเข้า  47,144.8 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 18.7% คิดเป็นเงินบาท 1.579 ล้านล้านบาท ขาดดุลการค้า 2,403.1 ล้านเหรียญฯ หรือ 100,000 ล้านบาท

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.รัสเซีย เพิ่ม 33.4% 2.อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม31.5% 3.ฮ่องกง เพิ่ม 29.8% 4.เกาหลีใต้ เพิ่ม 28.9% 5.สหรัฐฯ เพิ่ม 27.2% 6.อินเดีย เพิ่ม 23% 7.ไต้หวัน เพิ่ม17.7% 8.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 17.3% 9.CLMV เพิ่ม 14.4% 10.ตะวันออกกลาง เพิ่ม 13.8% แต่รายละเอียดสินค้ายังไม่มี เนื่องจากมีการเปลี่ยนระบบพิกัดภาษีศุลกากรในรอบ 5 ปี ซึ่งต้องรออีกระยะ ถึงจะแยกออกมาได้

ส่วนปัจจัยที่สนับสนุน มาจากภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัว และค่าระวางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังไม่รวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้โลจิสติกส์ ค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์มีปัญหาได้อีก โดยผลกระทบจากสงครามที่มีต่อการส่งออกไทยจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นไป

“เดือนก.พ.65 การส่งออกไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงคราม น่าจะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นไป แต่ก็อาจมีผลดีต่อไทยด้วย ที่จะส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าของรัสเซีย ในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังยืนยันเป้าหมายมูลค่าส่งออกปีนี้ขยายตัวไว้ที่เดิม คือ เพิ่ม 3-4% จากปี 64 มูลค่า 280,000 ล้านเหรียญฯ เพราะจะมีตลาดซาอุดิอาระเบียเข้ามาเพิ่มยอด โดยสัปดาห์หน้า ไทยจะส่งออกไก่ไปซาอุล็อตแรก หลังจากที่ห้ามนำเข้ามาหลายปี และยังจะมีผลจากการทำมินิเอฟทีเอของไทยกับอีกหลายประเทศ ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มยอมได้ด้วย”

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีต่อไทยทางตรงที่น่าห่วงคือ สถานการณ์ที่ไม่นิ่ง และความสับสนในเรื่องของห่วงโซ่การผลิต และการขนส่ง เพราะมีสินค้าทุนบางรายการ ที่ 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ และขณะนี้ การส่งออกชะงัก เช่น ปุ๋ย ทำให้เกิดภาวะขาดแคลน อีกทั้งยังมีการปิดท่าเรือบางแห่งของยูเครน และต้องเปลี่ยนท่าเรือขนส่งสินค้า ซึ่งทำให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้า การขนส่งปั่นป่วน และกระทบต่อการค้าโลก

“ตอนนี้ ห่วงโซ่การผลิตสินค้าเพี้ยน การขนส่งเพี้ยน และจะกระทบต่อการค้าได้ แต่ไทยก็ต้องหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทน ขณะเดียวกัน จะมีผลดีต่อไทยด้วย เพราะหลายประเทศอาจเปลี่ยนแหล่งนำเข้ามาเป็นในเอเชีย และไทยแทนโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร”

ส่วนการที่เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น จนอาจกระทบความต้องการซื้อสินค้า และอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยได้นั้นนายพจน์  กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่งขึ้นในช่วงมีสงครามรัสเซียและยูเครน แต่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วแต่สงครามก็เร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปอีก และทำให้กำลังซื้อประชาชนทั่วโลกลดลง เพราะสินค้ามีราคาแพงขึ้น แต่รายได้ประชาชนเพิ่มตามไม่ทัน และในที่สุดอาจกระทบต่อการส่งออกได้