

วันนี้ (9 มกราคม 2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลับมาอีกครั้ง หลังเทศกาลปีใหม่ ว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่ยอดการเสียชีวิตยังคงที่ แสดงว่า วัคซีนที่นำมาฉีดให้ประชาชนมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนัก และป้องกันการสูญเสียได้ ที่ผ่านมาเราฉีดวัคซีนได้ตามเป้า และประชาชนโดยภาพรวมก็ช่วยกันระมัดระวัง ถือว่าได้ช่วยกันประคองสถานการณ์ ต้องขอขอบคุณความร่วมมือที่เกิดขึ้น สำหรับใครถึงคิวรับเข็มที่ 3 ขอให้ไปรับบริการได้ทันที อย่างไรก็ตาม อย่ามองว่า เชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง เพราะในประเทศไทย ยังพบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าอยู่ วันนี้ประชาชนตื่นตัวกันมากในเรื่องของการตรวจคัดกรองหาเชื้อ เป็นเรื่องที่ดี ที่คนไทยไม่ละเลย เพราะการรู้ตัวว่าติดเชื้อเร็ว ก็จะช่วยให้เราระมัดระวังตัวเองเร็วขึ้น ไปจนถึงการเข้าสู่ระบบรักษาเร็ว และทำให้การควบคุมโรคในภาพรวมมีประสิทธิภาพดีขึ้น
นายอนุทินกล่าวว่า ได้มอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประสานงานคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มจุดตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครและเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยจะเริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 11-21 ม.ค.2565 เป็นต้นไป ตั้งเป้าตรวจวันละ 1,000 คน จุดตรวจ คือ ลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้ตรวจ เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.)
“การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว จะใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ ATK ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) จะทราบผลตรวจภายใน 30 นาที โดยหากปรากฏว่าผลตรวจเป็นบวก หรือติดเชื้อก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือในระบบชุมชน (Community Isolation) จากนั้น จะเป็นการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษา หากมีอาการมากขึ้น จะให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม จนถึงโรงพยาบาลทั่วๆ ไป ที่มีเครื่องมือพร้อม เรามีระบบที่พัฒนาขึ้นมาจากองค์ความรู้และประสบการณ์ ซึ่งเราจะทำทุกวิถีทาง เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด”