ม.หอการค้าไทยคาดปี 65 จีดีพีไทยทะยาน 4.2%



  • ภาคส่งออกยังเป็นพระเอกดันเศรษฐกิจร่วมกับท่องเที่ยว
  • สุดห่วงหนี้ครัวเรือนที่พุ่งแตะ 94.1% แนะรัฐเร่งแก้ไข
  • ส่วนปี 64 เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้วคาดโต 1.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ศูนย์ คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 64 ไว้ที่ 1.5% หรือมีกรอบอยู่ที่ 1.3-1.7% โดยเชื่อว่าจากผลมาตรการเปิดเมือง จะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 200,000 คน และเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะช่วยหนุนจีดีพีเดือนพ.ย.-ธ.ค.ให้เพิ่มขึ้นได้ 0.83% ส่วนการส่งออก คาดว่า ปีนี้จะขยายตัวได้สูงถึง 16.5% อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 1.2% อย่างไรก็ตาม จีดีพีปีนี้ ยังมีโอกาสขยายตัวมากกว่า1.7% หากรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งหากมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยจากภาครัฐเข้ามาเพิ่มเติม เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 4

“เศรษฐกิจไทยปี 64 ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เห็นได้จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติ พบว่า ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาหลังคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนก.ย.-ต.ค. มองว่า ไตรมาส 4 ปีนี้ จีดีพีจะขยายตัวได้ 2-3% จากผลของการคลายล็อกดาวน์ และผ่อนคลายมาตรการต่างๆ การเปิดประเทศ การเพิ่มวงเงินผ่านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย คาดว่า จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงปลายปีได้ 250,000-300,00 ล้านบาทขณะเดียวกัน โควิดเริ่มควบคุมได้ จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง การฉีดวัคซีนทำได้เร็วกว่าเป้าหมาย สัญญาณต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจจะเริ่มโดดเด่นในปีหน้า โดยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป  แต่ต้องไม่มีการล็อกดาวน์ในไตรมาส 4 ปีนี้อีกรอบไปจนถึงปี 65”

ส่วนปี 65 คาดจีดีพี ขยายตัว 4.2% การส่งออก ขยายตัว 5.4% อัตราเงินเฟ้อ 1.5% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคน แต่ยังมีโอกาสที่จีดีพีปี 65 จะขยายตัวได้ 4.5% ถ้าปลายปีนี้ รัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมวงเงิน 30,000- 40,000 ล้านบาท แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังจากการเปิดเมือง จนต้องใช้มาตรการควบคุมแบบเข้มงวด หรือล็อกดาวน์อีก และปี 65 จำนวนคนติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง ราคาน้ำมันแพงมาก จีดีพีอาจโตได้เพียง 3.6%

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ในปี 65 ภาคการส่งออกจะยังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รวมถึงการเติบโตของภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับมา การเปิดสถานบันเทิงต่างๆ มากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รวมถึงยังจะมีเงินสะพัดจากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกตลอดทั้งปี อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลว่า หนี้ครัวเรือนที่ยังสูงขึ้น คาดว่าปี 65 หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 94.1% ของจีดีพีจากปี 64 ที่คาดอยู่ที่ 92.6% ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบหาแนวทางแก้ไข

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือปัญหาสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะเรื่องของซอฟท์โลน หรือการไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน เนื่องจากในปัจจุบัน เอสเอ็มอี และภาคธุรกิจในต่างจังหวัดยังไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควรจากการเปิดประเทศ รวมถึงดูแลราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท

“ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในช่วงจากนี้ คือ 1.ต้องคุมโควิดให้อยู่ ฉีดวัคซีนให้ได้มากๆ เพราะถ้าการติดเชื้อในประเทศลดลง จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว 2.ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่อาจใช้มาตรการจำกัดเฉพาะบางกิจกรรมที่มีปัญหา 3.ผลักดันให้ภาคธุรกิจเปิดกิจกรรมได้ตามปกติ 4.จัดซอฟท์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ เอสเอ็มอี 5.กระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และลดปัญหาหนี้ครัวเรือน6.ทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กลับมาคึกคัก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ”