

- พบมีสินค้าหลายรายการเติบโตดีตามความต้องการโลก
- บางกลุ่มขยายตัวสวนกระแส แต่ระวังความต้องการลดลง
- ส่วนสินค้าเสี่ยง แนะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสฟื้นฟูขีดแข่งขัน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ความสามารถในการส่งออกของไทย 4 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มเติบโต กลุ่มสวนกระแส กลุ่มเสียโอกาส และกลุ่มเฝ้าระวัง เพื่อสนับสนุนนโยบายเร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสสูงจากความต้องการในตลาดโลก พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะ กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการส่งออกในแต่ละกลุ่ม
สำหรับสินค้ากลุ่มแรก คือ กลุ่มเติบโต ทั้งการส่งออกของโลกขยายตัว และไทยขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีเครื่องประดับและทองคำ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อาหารปรุงแต่ง ผักและผลไม้ปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีมูลค่าสูง ไทยได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบ ทักษะแรงงาน และตลาดขยายตัวดี แต่ยังควรยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
ส่วนกลุ่มสวนกระแส โดยโลกหดตัว แต่ไทยขยายตัว ได้แก่ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ นาฬิกา ผ้าถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ ปุ๋ย ดีบุกและของที่ทำด้วยดีบุก รถไฟหรือรถรางและส่วนประกอบ เยื่อไม้ ยาสูบ เป็นต้น ซึ่งไทยยังเติบโตได้ท่ามกลางความเสี่ยง แต่การขยายตัวอาจไม่ยั่งยืน เพราะแนวโน้มความต้องการโลกชะลอลง ขณะที่กลุ่มเสียโอกาส ที่การส่งออกโลกขยายตัว แต่ไทยหดตัว ได้แก่ ธัญพืช เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก น้ำตาลผักและผลไม้ปรุงแต่ง ปลาและสัตว์น้ำ พืชผักที่บริโภคได้ เป็นต้น ไทยควรปรับกลยุทธ์เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันเข้าสู่ตลาดที่มีโอกาสเติบโต
สำหรับกลุ่มเฝ้าระวัง ที่ทั้งโลกหดตัว และไทยหดตัว ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เส้นใยสั้นประดิษฐ์ เกลือ รองเท้า หนังดิบ (นอกจากหนังเฟอร์) และหนังฟอกเป็นต้น ซึ่งการค้าในตลาดโลกชะลอลงกว่าในอดีต จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลก เช่น การเข้ามาของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลก พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน กระแสเศรษฐกิจสีเขียวเป็นต้น จึงควรติดตามสถานการณ์และวางแนวทางปรับตัว โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลง

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการส่งออกและเติบโตตามความต้องการของโลก ส่วนหลังยุคโควิด-19 เริ่มเห็นโอกาสในบางสินค้าที่การส่งออกเติบโตมากขึ้น และมาทดแทนสินค้าเดิมที่ไทยมีศักยภาพแข่งขันลดลง โดยสินค้าที่เติบโต เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ อาหารสัตว์ ของปรุงแต่งจากธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เป็นต้น”
นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 64 สินค้ากลุ่มเติบโต ยังส่งออกได้ โดยเครื่องจักรและส่วนประกอบ เพิ่ม 18.8% ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 39.3% พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เพิ่ม 33.4% ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 61.7% ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เพิ่ม 30.6% อาหารปรุงแต่ง เพิ่ม 4.9% เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ เพิ่ม 2.1% อาหารสัตว์ เพิ่ม 19.4% ของปรุงแต่งจากธัญพืช เพิ่ม 3.7% และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เพิ่ม 38.0%