สิงห์รถบรรทุกขู่ขึ้นค่าขนส่ง หลังราคาดีเซลยังแพง 1 พ.ย.ดีเดย์หยุดวิ่ง 8 หมื่นคัน



  • เรียกร้องรัฐตรึงราคาดีเซลลิตรละ 25 บาทไม่สำเร็จ
  • หวั่นกระทบสินค้าอุปโภคบริโภค-สินค้าเกษตร

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ รถบรรทุกในเครือข่ายสหพันธ์จะหยุดขนส่ง 20% หรือประมาณ 70,000-80,000 คัน จากจำนวนรถบรรทุกของสมาชิกทั้งหมด 400,000 คัน เป็นเวลา 7 วัน โดยส่วนใหญ่รถบรรทุกเหล่านี้จะขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค, สินค้าเกษตร (ข้าว-มันสำปะหลัง-อ้อย), สินค้านำเข้า-ส่งออก, สินค้าอุตสาหกรรมก่อสร้าง (อิฐ-หิน) รวมถึงรถบัสท่องเที่ยว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระต้นทุนผู้ประกอบการขนส่งจากปัญหาราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นตามที่เรียกร้องไปก่อนหน้านี้โดยขอให้รัฐบาลช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 25 บาท ซึ่งจะมาจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 1-2 บาท/ลิตร การยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนด้านพลังงานเป็นระยะเวลา 1 ปี และยกเลิกการใช้ไบโอดีเซลเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะทำช่วยให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลงได้อีก 1.50-2.00 บาท/ลิตร

“การขอให้ตรึงราคาดีเซลที่ลิตรละ 25 บาท ไม่ใช่ว่าเราไม่เข้าใจว่าทิศทางราคาน้ำมันขาขึ้น แต่รัฐบาลสามารถลดภาษีสรรพสามิตที่เก็บอยู่ลิตรละ 5 บาท ลงมาสัก 1-2 บาท และเลิกการใช้ B100 ก็จะลดลงมาได้อีก 1.50-2.00 บาท หากช่วยดีเซลลดลงมาได้สักนิดหนึ่งอาจจะได้ลิตรละ 26 บาท แค่หยุดชั่วคราวจนกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ผู้ประกอบการยืนได้ จะกลับไปใช้ใหม่ก็ได้” นายอภิชาติกล่าว

และหากข้อเสนอทั้งหมดของสหพันธ์การขนส่งฯไม่ได้รับการพิจารณา ทางสหพันธ์หารือกันว่า ในวันที่ 14-16 พ.ย.นี้ ทางสหพันธ์จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงพลังอีกครั้ง ด้วยการเคลื่อนขบวนรถบรรทุกแสดงสัญลักษณ์ โดยครั้งนี้จะวิ่งล้อมเมือง-ผ่าเมือง แต่จะพยายามไม่ให้กระทบการจราจรโดยใช้เลนส์ซ้ายทางเดียว และเคลื่อนที่ไม่หยุด ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่หากมีการแสดงสัญลักษณ์แล้วไม่ได้ผล ทางผู้ประกอบการ จำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นสุดท้าย คือ การปรับขึ้นราคาค่าขนส่งบรรทุกสินค้า ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจริง ๆ แนวทางนี้เราสามารถทำได้เลย ไม่ต้องเรียกร้องก็ได้

เพราะราคาค่าขนส่งไม่ได้เป็นบริการควบคุมที่กระทรวงพาณิชย์ดูแล เพียงแค่ประกาศปรับขึ้นก็ทำได้เลย แต่มองว่าการปรับค่าขนส่งขึ้นเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจะกระทบผู้ผลิตสินค้าต้องปรับราคาสินค้าและกระทบผู้บริโภค

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลกระทบหากมีการหยุดวิ่งรถบรรทุก 20% เป็นระยะเวลา 7 วัน จะกระทบต่อผู้ผลิตรายเล็กที่เป็นขาจรรุนแรงมากที่สุด เพราะรายใหญ่จะมีระบบรถบรรทุกของตัวเองอยู่แล้ว หรือไม่ก็จะมีการทำสัญญากับบริษัทขนส่งแบบรายเดือนและรายปี แต่หากมีการปรับขึ้นค่าขนส่งตามระดับราคาน้ำมันในลำดับต่อไป กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ จะเห็นชัดเจนในต้นปี 2565

ตอนนี้มีการทำสัญญาล่วงหน้าไปแล้ว 1-2 ไตรมาส จึงยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาทันทีโดยต้นทุนค่าขนส่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าแตกต่างกัน ตั้งแต่ 2-20% แล้วแต่ชนิดสินค้า ระยะทางความห่างไกลของการขนส่งจากต้นทางแหล่งผลิตไปถึงปลายทาง ดังนั้น ผู้จะได้รับผลกระทบหนักสุดน่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการเน่าเสียง่าย