‘หมอยง’เปิดผลศึกษาให้วัคซีนสลับแบบไขว้ ชี้ลำดับการสลับมีผลต่อภูมิต้านทาน



วันที่ 24 กันยายน 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก หัวข้อ “โควิด 19 วัคซีน การให้วัคซีนเข็มแรกเริ่มต้น และกระตุ้นเข็ม 2” มีเนื้อหาดังนี้…

โควิด 19 วัคซีน การให้วัคซีนเข็มแรกเริ่มต้น และกระตุ้นเข็ม 2

ยง ภู่วรวรรณ  24 กันยายน 2564

วัคซีนเชื้อตายเข็มแรกเริ่มต้นจะเป็นตัวรองพื้นที่ดี และตามด้วยการกระตุ้นด้วย virus vector หรือ mRNA

วัคซีนเชื้อตาย มีอาการข้างเคียงน้อยมาก เช่น อาการเจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เทียบกับวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA  มีมากกว่า

การให้วัคซีนสลับ แบบไขว้ โดยเริ่มต้นจากวัคซีนเชื้อตาย sinovac แล้วตามด้วย AstraZenecacac หรือ Pfizer ภูมิต้านทานจะใกล้เคียงกับการให้วัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer 2 เข็ม ดังแสดงในรูป (ตรวจภูมิต้านทานที่ 1 เดือน)

การให้วัคซีนสลับเริ่มต้นด้วยไวรัสเวกเตอร์ AstraZeneca แล้วตามด้วย mRNA Pfizer วัดภูมิต้านทานได้สูงสุดในกรณีให้ 2 เข็ม

mRNA มีอาการข้างเคียง เข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก

อาการข้างเคียง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในวัยรุ่นหลังให้ mRNA  จะพบมากในเข็มที่ 2 เป็นที่วิตกกังวลของผู้ปกครอง และบางประเทศแนะนำให้ mRNA เข็มเดียว

mRNA เข็มเดียวระดับภูมิต้านทานไม่เพียงพอในการป้องกัน

การให้วัคซีนสลับ เริ่มต้น วัคซีนเชื้อตายเข็มแรก แล้วตามด้วย mRNA เข็มที่ 2 ทำให้ได้รับ mRNA เข็มเดียว น่าจะเป็นทางออกลดอาการข้างเคียง

ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะความปลอดภัย และอาการข้างเคียง ในการให้วัคซีนสลับ เริ่มต้นเชื้อตาย แล้วตามด้วย mRNA ในเด็กวัยรุ่น

ลำดับการสลับวัคซีน มีผลต่อภูมิต้านทาน