

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมแถลงผลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นที่มีผู้สอบถามมากในช่วงนี้ หลังจากที่โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HiTAP) ออกมาทบทวนผลการศึกษาวิจัยจากหลายประเทศว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีผลต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่ ต้องอธิบายว่า กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟาวิพิราเวียร์ ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไปและถูกร่างกายกำจัดไป ข้อบ่งใช้ยาตัวนี้ ตามภาษาทางการแพทย์เรียกว่า “บอร์ดสเปกตรัม แอนติไวรัส ดรัก” จึงเป็นยาใช้ต้านไวรัสทั่วไป เคยใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ และนำมาใช้รักษาไวรัสอีโบลาได้ผล ทางการแพทย์ถือว่า ใช้ได้กับไวรัสหลายตัว ขณะนี้ ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการว่าใช้ต้านไวรัสโควิด-19 เนื่องจากต้องมีการศึกษาใช้ยาจริง และยาหลอกกับผู้ป่วย โดยปกปิดข้อมูลกับผู้ป่วย หลังจากนั้นก็ตามดูผล ซึ่งยาต้านไวรัสโควิด-19 มีแต่ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง และประเทศไทยก็กำลังสั่งจองยาตัวนั้นอยู่
ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นการระบาดปี 2563 ไทยศึกษาผลการใช้ยาจากที่อื่น โดยประเทศจีน มีผลวิจัยพบว่า ยาฟาวิฯ สามารถลดการติดเชื้อได้ดีกว่ายาต้านไวรัสตัวอื่น เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ LPV และ RTV ประเทศรัสเซีย พบว่า ยาฟาวิฯ สามารถกำจัดเชื้อได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานในวันที่ 5 ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญของไทยที่มาจากหลายกลุ่มหลายสถาบัน หลายสมาคม เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหลายมาปรับใช้ จึงนำข้อมูลจากต่างประเทศนี้มาทำเป็นแนวทางการรักษา ฉบับแรกออกมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 ในปัจจุบันกำลังใช้ฉบับที่ 17 ที่กำหนดว่า ให้ใช้ยาฟาวิฯ และมีการปรับให้ใช้ในผู้ป่วยได้เร็วขึ้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงข้อมูลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในไทย ว่า กรมการแพทย์ ร่วมศึกษากับคณะแพทย์ เกือบทุกคณะและโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
“ข้อมูลปี 2563 โดย รพ.รามาธิบดี ศึกษาในผู้ป่วย 400 กว่าราย พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาฟาวิฯ เร็วภายใน 4 วัน หลังเริ่มมีอาการป่วยให้ผลการรักษาดี ลดอาการรุนแรงได้เกือบ 30% ค่ามัธยฐานหลังจากได้ยาแล้ว ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรงจะใช้เวลามาก เฉลี่ย 17 วัน ดีขึ้น แต่ถ้าปอดบวมไม่รุนแรงจะอยู่ที่ 9 วัน โดยมีการตีพิมพ์เอกสารวิชาการเมื่อต้นปี 2564 แล้ว” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ส่วนรายงานศึกษาวิจัยของ HiTAP ได้ทบทวน 12 การศึกษาในต่างประเทศ บางรายพบว่า มีและไม่มีประสิทธิผล โดยประเมินจากเกณฑ์ความรุนแรงว่าผู้ป่วยเสียชีวิตหรือไม่ การใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ใน 12 การศึกษา มีความแตกต่างกัน เช่น บางงานศึกษาในกลุ่มของผู้ป่วย บางงานศึกษาผู้ป่วยใน ทำให้ผลแปรปรวน นอกจากนั้น ขนาดยาฟาวิฯ ที่ใช้ก็ไม่เท่ากันทั้ง 12 การศึกษา รวมถึงยาที่ใช้เปรียบเทียบกับยาฟาวิฯ ในแต่ละการศึกษาก็ต่างกัน แต่ข้อมูลที่ HiTAP รายงานเหมือนกันคือ ยาฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิผลในการลดอาการทางคลินิกภายใน 7 และ 14 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ยา พร้อมทั้งสนับสนุนแนวทางการรักษาฉบับล่าสุด คือ ฉบับที่ 17 ว่าให้เริ่มให้ยาฟาวิฯ ให้เร็วที่สุด
“คุณหมอที่อยู่หน้างานและดูแลผู้ป่วยต่างบอกว่า ให้เร็ว แล้วดี ให้ช้า ไม่ดี ซึ่งค่อนข้างตรงกับรายงานที่ HiTAP ได้สรุปมา ดังนั้น จะดูว่าได้ผลหรือไม่ ต้องไปอ่านว่าเขาเปรียบเทียบกับยาอะไร โดยส่วนใหญ่ใน 12 การศึกษา ไม่ได้เปรียบเทียบกับยาหลอก เปรียบเทียบกับยาในแต่ละประเทศที่ใช้กันอยู่ด้วย ซึ่งยังมีผลออกมาตรงกันว่า หากเริ่มมีอาการแล้วเริ่มให้ยาฟาวิฯ อาการจะดีขึ้น มีประสิทธิผลในการลดอาการทางคลินิก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางเวชปฏิบัติฯ ที่ออกมานั้น ไม่ใช่แค่กรมการแพทย์ แต่ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งกรมต่างๆ ใน สธ. ราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมเวชบำบัดวกฤตแห่งประเทสไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น โรงเรียนแพทย์ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปรับแนวทางแต่ละครั้งมีการถกเถียงกันมาก เพราะจะมีทั้งประสบการณ์หน้างาน รายงานต่างประเทศ รวมทั้งผลศึกษายาใหม่ๆ ซึ่งมีการพูดเหมือนกัน อย่างสนับสนุนให้ทำการศึกษาวิจัย เช่น ยาไอเวอร์แม็คติน เป็นต้น
“สธ.ยินดีรับฟังความเห็นแตกต่าง ยอมรับการระบาดในไทยค่อนข้างวิกฤต แม้เป็นวันแรกในรอบหลายสัปดาห์ที่ผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 2 หมื่นคน แต่ยังวางใจไม่ได้ เรารับความเห็นแตกต่าง แต่ต้องไม่แตกแยก เอาทุกความเห็นมานั่งคุยกัน ความเห็นที่แตกต่างทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายได้ น่าจะมานั่งคุยกันให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุด สธ.น้อมรับคำวิจารณ์ทุกภาคส่วน ทั้งราชการ นอกราชการ ประชาสังคม เอ็นจีโอ ชุมชน หรือประชาชน แล้วมานั่งคุยกันบนหลักฐานเชิงประจักษ์ ถ้าร่วมแรงร่วมใจจะฝ่าวิกฤตไปได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยสั่งจองยาฟาวิพิราเวียร์ โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ อภ.จะผลิตเองด้วย เพื่อให้มียาใช้กับผู้ป่วยไม่ขาด การสั่งจองจะทยอยเอาเข้ามาเป็นระยะ และศึกษาผลการใช้ไปด้วย เพื่อดูผลรอบใหม่ที่เชื้อสายพันธุ์เดลต้าระบาดเป็นอย่างไร
“แพทย์หน้างานบ่นว่า ให้ยาช้ากว่า 5-6 วัน จะเป็นปอดบวม ดังนั้น การให้เร็ว จะดี ศิริราชถึงกับเปิดคลินิกฟาวิพิราเวียร์เป็นโอพีดี (OPD) เพราะกลัวผู้ป่วยได้ยาช้า ผลการศึกษามีทั้งผลสนับสนุนและคัดค้าน จึงต้องเอาหลักฐานมารวบรวมเพื่อดูแลชาวไทยให้ดีที่สุด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว