ศบค.จ่อ เสนอแผน “ป้องกันติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาล” 10 ข้อ



วันที่ 18 ส.ค.64 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่า การระบาดของเชื้อในพื่นที่ กทม. ภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ในสิงหาคม อยู่ในภาวะชะลอตัว

ส่วนที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังคงมีแผนฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส ในปี 2564 เพื่อให้ครอบคลุมประชากรจำนวน 50 ล้านคน จาก 67 ล้านทั่วประเทศ ทั้งนี้หากบวกประชากรแฝงจะมีจำนวนถึง 71 ล้านคน ดังนั้น 1 เดือน ต้องฉีดวัคซีนได้ 15 ล้านโดส เดือนหนึ่งหาวัคซีน จำนวน 10 ล้านโดส ต้องฉีดให้ได้วันละ 5 แสนโดส

“กราฟความชันโรคโควิด-19 ถึงขณะนี้ก็ยังพุ่งสูงขึ้นอยู่ แต่อัตราความชันขึ้นของกราฟชะลอตัวลง ดังนั้น ศบค.ยังเน้นนโยบายสำคัญ คือ การค้นหาเชิงรุกในชุมชน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต การป่วยหนัก ในโรงงานและชุมชน และมีการอบรมเจ้าหน้าที่การใช้ชุดตรวจ ATK และเมื่อตรวจเจอผู้ติดเชื้อ จะมี “Company Isolation” คือการแยกกักตัวในสถานที่ทำงาน โดยหากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อตรวจพบ และผลตรวจเป็นบวก โดยหลักการนี้จะทำได้ในบริษัทที่มีความพร้อมเท่านั้น ต้นแบบมาจากกักตัวในชุมชน คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) ซึ่งเป็นหลักการเดียวกัน สิ่งสำคัญชุมชนต้องรับทราบและยอมรับ รวมทั้งมีระบบในการดูแลการติดเชื้อของผู้ป่วยซึ่งเป็นพนักงานบริษัทเอง ที่มีกระทรวง สธ.ดูแลอยู่”

แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขยังเสนอรูปแบบ “การป้องกันแบบครอบจักรวาล” สืบเนื่องจากบางกรณีที่ไม่สามารถหาได้ว่ามีการติดเชื้อจากที่ใด หรือจากใคร การกระจายของเชื้อในขณะนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางทั้งในชุมชนและครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เสนอ แนวคิดการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล

โดยมีสาระสำคัญ คือ เราะต้องอยู่กับโควิดให้ได้ เพราะโควิดต้องอยู่ไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องปรับสมดุล ให้เข้าวิถีใหม่ โดย”ขอให้เราทุกคนคิดเสมอว่า คนทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะสนิทแค่ไหน อาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แฝงกันทั้งหมดและอาจแพร่เชื้อมาให้เราได้ เราจึงต้องป้องกันอย่างสุดความสามารถ ที่จะไม่ให้ตนเองไปรับเชื้อโควิด-19 หรือแพร่เชื้อโควิด-19 ให้ผู้อื่น

สำหรับหลักปฏิบัติของการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล

1.ออกจากบ้านเมื่อจําเป็นเท่านั้น
2.เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่
3.สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน
4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม ไอจาม หรือสัมผัสวัตถุ/
สิ่งของ ที่ใช้ร่วมกัน
5.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก โดยไม่จําเป็น
6.ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จําเป็น(น้อยครั้งและใช้เวลาสั้นที่สุด)
7.ทําความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ
8.แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
9.เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุกสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสํารับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
10.หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วย ATK บ่อย ๆ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน