

- ล็อกดาวน์ 10 จังหวัดคาดศก.เสียหาย 1-2 แสนล้าน
- แนะรัฐออกมาตรการเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม
- ผ่อนเงื่อนไขกู้เงิน-พักต้นพักดอก-เพิ่มกำลังซื้อประชาชน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ 10 จังหวัดพื้นที่คุมเข้มสูงสุดของภาครัฐว่า การทุ่มงบประมาณ 42,000 ล้านบาทครั้งนี้ จะช่วยเยียวยาบรรเทาความเสียหายได้บางส่วนเท่านั้น เพราะเม็ดเงินดังกล่าว น่าจะมีผลเพียงช่วยประคองประชาชน ภาคธุรกิจและกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ขาดรายได้จากมาตรการคุมเข้มเท่านั้น และประเมินว่า วงเงิน 42,000 ล้านบาท จะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 0.1-0.3% เท่านั้น แต่การยกระดับมาตรการคุมเข้มครั้งนี้ จะทำให้เศรษฐกิจเสียหายถึง 0.7-1.0% หรือ 100,000-200,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินจากผลกระทบต่อเนื่อง 1-2 เดือน โดยเห็นว่า ภาครัฐควรมีมาตรการเสริมเพิ่มเติมอีก และมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับมาตรการเติมเพิ่ม เช่น มาตรการโค-เพย์เมนต์ (Co-payment) รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างบางส่วนให้กับพนักงานของผู้ประกอบการ, ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ภาษีป้าย ขยายเวลาลดการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการ, เสริมโครงการประกันเงินต้นช่วยผู้ประกอบการ, ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยเฉพาะการปลดเครดิตบูโร และข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงมีมาตรการอื่นเสริม เช่น พักหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ โดยกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเสนอให้เพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่งจากเดิม 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 386,000 ล้านบาท, ปรับเงื่อนไข ยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ยุ่งยากและมีผู้เข้าร่วมโครงการน้อย, นำโครงการ ช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะกระตุ้นให้คนมีฐานะใช้จ่ายในโครงการนี้มากขึ้น เป็นต้น
“หอการค้าไทยคิดว่า มาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหายภาคธุรกิจและประชาชนได้ จึงต้องการให้รัฐเร่งนำงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน มาใช้เสริมทันทีในไตรมาส 3 ไม่ต้องรอถึงไตรมาส 4 เพราะขณะนี้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบสะสมจากการระบาดหลายระลอก และต้องมองสถานการณ์ว่าครั้งนี้ อาจจะใช้เวลายาวนานกว่าทุกครั้ง ถึงจะควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องใช้เม็ดเงินมากกว่าทุกครั้ง ในการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ”